|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
| เมื่อศูนย์ศิลปาชีพทำ TQM (กรมวิทย์) | |
|
เมื่อศูนย์ศิลปาชีพทำ TQM ดร. คชินท์ สายอินทวงศ์
การดำเนินการนำระบบบริหารงานคุณภาพทั่วทั้งองค์กรหรือ TQM (Total Quality Management) เข้ามาใช้กับองค์กรนั้นจำเป็นต้องเข้าไปสำรวจความพร้อม ปัญหาต่างๆขององค์กร และดูว่าจะนำกลยุทธ์ใดเข้ามาใช้กับองค์กร สำหรับทางศูนย์ศิลปาชีพนั้น ทางสำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักในทุกๆเรื่องให้กับทางศูนย์ศิลปาชีพได้เห็นความสำคัญของการปรับปรุงองค์กรของทางศูนย์ศิลปาชีพ โดยเริ่มที่ 3 ศูนย์ฯคือที่บ้านกุดนาขามจังหวัดสกลนคร บ้านแม่ต๋ำ และบ้านทุ่งจี้ จังหวัดลำปาง โดยเริ่มนำระบบบริหารงานคุณภาพเข้ามาใช้ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นได้มีการเข้าไปตรวจประเมิน (Diagnosis) และพบปัญหาต่างๆดังนี้
หนึ่ง ศูนย์ศิลปาชีพยังไม่มีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า สมาชิกและอาจารย์ผู้ดูแลศูนย์ยังทำงานตามความถนัดของตนเองที่ถูกฝึกฝนกันมาเป็นสิบๆปี ยังไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับโลกในยุคใหม่ที่ลูกค้ามีความต้องการหลากหลายและเปลี่ยนใจไปตามกระแสแฟชั่นแทบจะทุกนาที ทำให้แทบจะไม่มีการพัฒนารูปแบบใหม่ สีสันใหม่ที่ทันสมัย
สอง สมาชิกยังมีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำมาก ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่อาจโทษสมาชิกอย่างเดียว เพราะเนื่องจากสมาชิกเองก็ไม่มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน ไม่มีตัวชี้วัด (KPI) ไม่มีระบบการประเมินผลที่จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและกระตือรือร้นในการทำงาน งานบางชิ้นถ้าคำนวณต้นทุนในการผลิต โดยเฉพาะค่าแรงในการเขียนลายก็ไม่คุ้มแล้วเพราะแจกันบางใบที่ลวดลายวิจิตร อาจใช้เวลาในการเขียนถึง 5 เดือน เพราะในระหว่างวันก็ค่อยๆเขียน มีหยุดพักพูดคุย พักสายตา พักทานอาหาร พักทานของว่าง พักเลี้ยงลูก บางวันต้องหยุดงานไปเพราะมีงานบวชในหมู่บ้าน บางช่วงต้องทิ้งงานไปเลยหลายวันเพราะเป็นช่วงฤดูทำนา
สาม อัตราของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก เพราะยังไม่มีการควบคุมกระบวนการที่ดีในทุกขั้นตอน ยังไม่มีมาตรฐานในการทำงาน ทำให้มีอัตราการสูญเสียเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน การเตรียมสีเคลือบ การขึ้นรูป การอบแห้ง การเผาบิสกิท การเคลือบ การเผาเคลือบ
สี่ ต้นทุนในการผลิตยังไม่มีการคำนวณ จึงยังไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริงทำให้การตั้งราคาขายก็จะเป็นไปตามความรู้สึกของคนตั้ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะขาดทุนตั้งแต่แรกแล้วหรือบางทีอาจตั้งราคาขายสูงเกินไปจนเสียโอกาสในการขาย นอกจากนี้จากการคำนวณต้นทุนคร่าวๆพบว่าต้นทุนการผลิตมีค่าสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานของอุตสาหกรรมเซรามิก ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องลดต้นทุนอย่างเร่งด่วน
ห้า ยังไม่มีการมุ่งเน้นด้านการตลาดและช่องทางในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยังมีน้อย ส่วนใหญ่ยังใช้การตั้งขายอยู่ที่ห้องแสดงสินค้าในศูนย์ฯ ซึ่งคงมีน้อยคนนักที่จะดั้นด้นเข้าไปยังบ้านกุดนาขาม กิ่งอำเภอเจริญศิลป์ สกลนคร ที่ห่างจากตัวเมืองสกลนครหรือตัวเมืองอุดรธานีกว่า 90 กิโลเมตร หรือถ้าต้องการไปหาเซรามิกที่บ้านแม่ต๋ำก็ต้องออกจากตัวเมืองลำปางไปกว่าสองชั่วโมง จะมีก็แต่บ้านทุ่งจี้ที่ยังอยู่ในทำเลที่จะมีโอกาสในการขายเพราะอยู่บนเส้นทางที่จะไปยังอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน แต่ก็ห่างจากตัวเมืองลำปางเกือบหนึ่งชั่วโมงเช่นกัน
หก ไม่สามารถที่จะการันตีการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นลูกค้าต่างประเทศทางศูนย์ฯจะไม่กล้ารับออเดอร์เลยเนื่องจากทางศูนย์ฯเองไม่สามารถจะควบคุมอัตราการผลิต อัตราของเสีย และที่สำคัญคือควบคุมสมาชิกให้มาทำงานได้ทุกวัน โดยเฉพาะหน้าทำนาเกี่ยวข้าว เพราะสมาชิกทุกคนมีสิทธิที่จะหยุดงานไปทำนาได้โดยไม่ได้มีข้อกำหนดเหมือนอย่างพนักงานในโรงงาน
หลังจากนั้นจึงได้จัดอบรมสมาชิกทั้งหมดของแต่ละศูนย์ฯใช้เวลาศูนย์ฯละสองวันทั้งที่สกลนครและที่ลำปางทั้งสองศูนย์ฯ ในหัวข้อเรื่องการบริหารงานคุณภาพทั่วทั้งองค์กรหรือ TQM ที่เป็นที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหลาย แต่ได้ดัดแปลงให้เป็น TQM version ศูนย์ศิลปาชีพ ที่ให้สมาชิกซึ่งก็คือชาวบ้านในชุมชนแถวนั้นมาเข้าอบรมเข้าใจได้ง่ายและสามารถนำไปใช้งานจริงได้
สำหรับแนวคิดของ TQM ที่ได้อบรมและยกตัวอย่างคำอธิบายเพื่อให้สมาชิกได้นำไปปฏิบัติได้มีดังนี้
แนวคิดเรื่อง Total ให้ทุกคนทั้งองค์กรร่วมมือกันไม่ใช่เฉพาะแค่กลุ่มคนบางกลุ่ม เน้นความสำคัญของทุกคน ทุกหน่วยงาน
แนวคิดเรื่อง Market in มุ่งเน้นความสำคัญของลูกค้าทั้งลูกค้าภายนอกและภายใน การพัฒนาสินค้าใหม่ การเขียนลายใหม่ การทำสีใหม่ต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อให้มีงานทำเท่านั้น จัดตั้งทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำสมาชิกที่มีศักยภาพในแต่ละหน่วยงานมารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ การทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมัลติฟังค์ชั่น
แนวคิดเรื่อง Fact& Data ให้สมาชิกจัดทำใบบันทึกข้อมูลสำหรับลงข้อมูลต่างๆที่สำคัญในการผลิตและนำมาตรวจสอบทุกครั้งที่เกิดปัญหาในกระบวนการขึ้น
แนวคิดเรื่อง PDCA มีการจัดทำแผนย่อยและตั้งเป้าหมายย่อย และจะให้มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายในทุกครั้งที่เข้าไปให้คำปรึกษา
แนวคิดเรื่อง Process orientation เน้นการควบคุมกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ที่จะได้ (Process orientation) ซึ่งถ้าการควบคุมกระบวนการเป็นไปอย่างดีผลลัพธ์ก็จะดีตามไปด้วย ได้จัดทำคู่มือการทำงานในแต่ละขั้นตอนการทำงานเหมือนกับ Work instructionของ ISO9000 และชี้จุดที่สำคัญในการควบคุมกระบวนการในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่การตรวจรับวัตถุดิบ
แนวคิดเรื่อง Standardization มุ่งเน้นที่มาตรฐานการทำงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกๆคน
แนวคิดเรื่อง Prevention การป้องกันปัญหาที่รากของปัญหา โดยจัดตั้งกลุ่มแก้ไขปัญหาและพยายามสอนให้สมาชิกมองกลับไปจนถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาแล้วทำการป้องกันที่สาเหตุมากกว่าไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ตัวอย่างของปัญหาเช่น อัตราการหล่อแบบที่ช้ามากหล่อได้รอบเดียวต่อวัน สาเหตุมาจากใช้เนื้อดินสำหรับงานปั้นที่มีดินเหนียวสูงมาทำเป็นน้ำสลิปในการหล่อแบบ ก็ได้ทำสูตรปรับเพื่อสามารถนำดินปั้นมาหล่อแบบได้ จากหนึ่งรอบต่อวันเป็นสี่รอบต่อวัน ปัญหาเรื่องสีเคลือบด้านหลังการเผาครั้งที่สามซึ่งเป็นการเผาทอง ซึ่งเมื่อเข้าไปดูเรื่องการเผาพบว่าสมาชิกที่เตาใช้ Firing curve ในการเผาทองนานเกือบเท่าเผาเคลือบทั้งที่อุณหภูมิเพียง 800 °C ซึ่งจะทำให้เคลือบเกิดการตกผลึกกลับ (Devitrification) และทำให้เคลือบด้านขึ้นได้ ปัญหาเรื่องงานปั้นขนาดใหญ่แตกร้าวตั้งแต่ช่วงผึ่งแห้ง ปัญหาสีเพี้ยนในการผลิตแต่ละ Lot ปัญหาถ้วยกาแฟแตกเป็นรอยที่ก้นแก้ว ปัญหาเรื่องสีเขียนใต้เคลือบมีสีไม่สดใสและสีเพี้ยนในบางเฉดสี
ปัญหาเหล่านี้ถูกยกขึ้นมาเพื่อทำการแก้ไขและสร้างเป็นองค์ความรู้เก็บไว้กับองค์กร เพื่อลดของเสียในกระบวนการ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งทำให้สมาชิกเกิดความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น รู้ปัญหาและแนวทางในการแก้ไข ทำให้หัวหน้าศูนย์กล้าที่จะรับออเดอร์จากลูกค้ามากขึ้น
สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละศูนย์ฯนั้นจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละศูนย์ฯและเครื่องจักรที่แต่ละศูนย์มี เช่นที่บ้านกุดนาขามมีเครื่อง Extrude ที่ใหญ่เพียงพอในการขึ้นรูปทรงแบบใช้การรีดได้ บ้านทุ่งจี้มีเตาฟืนที่สามารถผลิตงานซึ่งแตกต่างจากงานแถบราชบุรีได้ บ้านแม่ต๋ำมีเตาเคลือบหลายขนาดซึ่งสามารถใช้ทำผลิตภัณฑ์ทั้งแบบเคลือบไฟสูงและเคลือบไฟต่ำได้ รวมทั้งทำงานชิ้นเล็กและชิ้นใหญ่ได้พร้อมๆกันรวมทั้งมีช่างปั้นที่สามารถปั้นงานใหญ่ได้ดีมาก ซึ่งผมได้พยายามชี้จุดแข็งของแต่ละศูนย์ฯให้กับทั้งหัวหน้าศูนย์ฯและสมาชิกได้รับทราบ และได้ให้สีเคลือบสูตรใหม่ๆทั้งที่อุณหภูมิสูงและที่อุณหภูมิต่ำไว้เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น
|
|
|
|
|
|
|