|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
| การพัฒนาบุคลากร | |
|
การพัฒนาบุคคลากร เพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ดร. คชินท์ สายอินทวงศ์
อุตสาหกรรมเซรามิกในบ้านเราทุกวันนี้กำลังถูกคุกคามหนักโดยสินค้าที่มาจากประเทศจีน ซึ่งมีราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับสินค้าที่ผลิตในประเทศของเรา สาเหตุที่จีนสามารถผลิตสินค้าได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าเรามากนั้นเนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้มีราคาต่ำกว่า, เครื่องจักรที่ลงทุนสามารถทำได้เองในประเทศ ทำให้มูลค่าการลงทุนมีค่าต่ำ, ค่าแรงของพนักงานต่ำกว่าแถมคนงานก็มีความขยันกว่า ซึ่งสิ่งเรานี้เราไม่อาจสู้กับจีนได้เลย ดังนั้นการที่เราจะหาทางต่อกรกับจีนได้นั้นเราต้องเร่งพัฒนาสินค้าที่โดดเด่น มีความแตกต่างไปจากเดิมๆ พัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อลดความสูญเสียและให้ผลผลิตได้ออกไปมากขึ้นโดยอาศัยจำนวนคนและเครื่องเท่าเดิม สร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นของตนเองโดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยี่ของต่างชาติ
แต่การที่เราจะสามารถสร้างสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้ เราจำเป็นจะต้องสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง สร้างบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถในทุกๆด้านให้ทั่วทั้งองค์กร ไม่เพียงแต่ระดับผู้บริหารเท่านั้นแต่ยังรวมถึงพนักงานในระดับบังคับบัญชาและปฏิบัติการด้วย ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่บุคคลากรของเรามีความสามารถ มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดความคิด มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ องค์กรของเราก็จะเข้มแข็งและมีการพัฒนาได้อย่างมั่นคง
การพัฒนาบุคคลากรนั้นต้องเริ่มตั้งแต่นโยบายของระดับผู้บริหาร ความมุ่งมั่นและเชื่อในศักยภาพของคน ลองดูตัวอย่างบริษัทชั้นนำของประเทศอย่างเครือซิเมนต์ไทย ที่มีนโยบายพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จากอุดมการณ์ข้อหนึ่งของเครือฯที่เชื่อมั่นในคุณค่าของคน ดังนั้นเครือฯจึงมีการวางแผนการฝึกอบรมให้กับพนักงานในทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนกระทั่งถึงระดับปฏิบัติการโดยคำนึงถึงความต้องการในการพัฒนางานของแต่ละระดับ ยอมที่จะเสียงบประมาณในการฝึกอบรมปีละไม่ใช่น้อยเพื่อให้พนักงานได้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนนี้ไม่ใช่ว่าจะได้ผลตอบแทนภายในวันนี้พรุ่งนี้แต่เป็นผลตอบแทนระยะยาวที่คุ้มค่าอย่างมากทีเดียว หลายๆบริษัทยอมเสียเงินไปกับการซื้อเทคโนโลยีใหม่ ซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตสินค้ามากขึ้นแต่กลับไม่ค่อยยอมลงทุนในเรื่องการพัฒนาบุคคลากร ทั้งๆที่เครื่องจักรมีแต่จะเสื่อมค่าลงทุกวัน ทั้งสภาพการใช้งานและมูลค่า ในขณะที่คนมีแต่จะพัฒนาขึ้นได้อย่างไม่รู้จบสิ้น มูลค่าของคนจะเพิ่มขึ้นตามความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เพิ่มพูน เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง มีความทันสมัยมากจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าผู้ใช้งานไม่มีความสามารถ เมื่อถึงตรงนี้มักมีคำถามเกิดขึ้นมากมายจากเจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารที่ยังไม่มั่นใจถึงการลงทุนเกี่ยวกับคน เช่นเมื่อสอนงานหรือฝึกจนเก่งแล้วก็จะหนีไปอยู่ที่อื่น บ้างก็ว่าพนักงานของตนไม่มีความสามารถพอในการเรียนรู้งานใหม่หรือระบบงานที่จะเปลี่ยนไปจากแบบเดิมที่เคยทำ บ้างก็คิดว่าไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนเพราะวัดผลยากและคุ้มทุนช้า บ้างก็คิดว่าเรื่องการศึกษาพื้นฐานของพนักงานมีผลถ้าเป็นแค่ระดับมัธยมก็คงพัฒนายาก หรือบางบริษัทมองไปถึงคนพื้นถิ่นนั้นๆยากแก่การพัฒนาอาจเพราะวัฒนธรรม ขนบประเพณี หรือชีวิตความเป็นอยู่
ผมโชคดีที่ได้ทำงานในหลากหลายหน้าที่งาน ได้พบเห็นการทำงาน ระบบงานทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก แม้กระทั่งขนาดจิ๋ว ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ได้ไปคลุกคลีและทำงานร่วมกับคนชาติที่ถือว่าตนเองเป็นมหาอำนาจในโลกอย่างอเมริกา ได้ร่วมงานกับคนในประเทศที่กำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจใหม่อย่างประเทศจีน ทำงานกับคนพื้นถิ่นทั้งที่ลำปาง เชียงใหม่ ราชบุรี สระบุรี ชลบุรี นครราชสีมา สมุทรสาคร ผมกล้าที่จะยืนยันได้ว่าคนอเมริกันในระดับปฏิบัติการที่จบระดับไฮสคูลมานั้นไม่ได้มีความสามารถ หรือศักยภาพที่โดดเด่นไปกว่าคนไทยเลยแม้แต่น้อย หรือแม้แต่คนจีนที่ว่าแสนขยันก็ไม่ใช่ว่าจะทำงานเกินมนุษย์แบบคนไทย(หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าเครือฯเคยไปสร้างโรงงานผลิตกระเบื้องเซรามิกอยู่ที่เทนเนสซี สหรัฐอเมริกา และที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน) ถ้าพูดในแง่ความแตกต่างของถิ่นฐานทำให้การทำงานแตกต่างกัน ก็ไม่ใช่ประเด็นเลย คนราชบุรี คนลำปาง คนสระบุรี หรือคนกรุงเทพไม่ได้แตกต่างกันจนเรียกได้ว่าจะเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการทำงาน การศึกษาพื้นฐานก็เช่นกัน ระบบการศึกษาในบ้านเราไม่ได้เลวร้ายเลย ผมอยากจะยกตัวอย่างบริษัทในเครือซิเมนต์ไทยเช่นเดิม(เพราะผมคุ้นเคยและคิดว่าน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี และสร้างกำลังใจให้กับบริษัทอื่นๆได้) พนักงานปฏิบัติการในระดับที่จบมัธยมศึกษาปีที่3 สามารถควบคุมเครื่องจักรที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานสามารถดัดแปลงปรับปรุงการทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีการคิดแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ กล้าพูดกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เขียนข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงงานได้อย่างน่าชื่นชม การตั้งกลุ่มคุณภาพเพื่อแก้ไขปัญหา การมีระเบียบวินัยในการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับตัวพนักงานแต่เกิดจากการอบรม สอนงานจากผู้บังคับบัญชา การดูแลเอาใจใส่จากผู้บังคับบัญชาและผู้บริหารมาโดยตลอด ตัวอย่างที่กล่าวมาเหล่านี้คงพอยืนยันได้ว่าคนของเราสามารถพัฒนาได้ถ้าผู้บริหารมุ่งมั่นและเชื่อมั่นในคุณค่าของคน การลงทุนในคนจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและให้ผลตอบแทนในระยะยาว ถ้าเรียกตามภาษานักลงทุนก็คงเป็นประเภท Value investment นั่นเองและตัวพนักงานเองเมื่อได้รับการฝึกฝนอบรม มีการเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอได้รับการยอมรับ ก็จะมีความภักดีกับองค์กร ซึ่งองค์กรก็จะมีทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด
สำหรับในอุตสาหกรรมเซรามิกนั้นถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องเน้นการใช้แรงงาน ใช้ทักษะในการทำงานเป็นอย่างมาก (Labor intensive) รวมทั้งแรงงานในบ้านเรายังถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วดังนั้นการลงทุนเครื่องจักรแบบ Automation จึงยังไม่มีความจำเป็นมากนัก การที่เราสร้างบุคคลากรขึ้นมาให้สามารถทำงานให้กับเราได้เป็นอย่างดีนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรักษาบุคคลเหล่านี้ไว้ให้อยู่กับองค์กร
|
|
|
|
|
|
|