|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
| แนวทางในการเลือกใช้งานกระเบื้องเซรามิก (1) | |
|
แนวทางในการเลือกใช้งานกระเบื้องเซรามิก (1) ดร. คชินท์ สายอินทวงศ์
ตลาดในปัจจุบันนี้ถือได้ว่าเป็นตลาดของผู้บริโภคโดยแท้จริง ผู้ผลิตสินค้าไม่ว่าจะเป็นสินค้าชนิดใดต่างก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ผลิตภัณฑ์กระเบื้องเซรามิกก็เช่นกัน ได้มีการพัฒนาลวดลายสีสันใหม่ๆ โดยเป็นไปตามแนวโน้มของตลาดในขณะนั้น อาจกล่าวได้ว่าสินค้ากระเบื้องเซรามิกถือว่าเป็นสินค้าแฟชั่นอย่างหนึ่งก็คงไม่เกินเลยไปนัก นอกเหนือจากลวดลายสีสันใหม่ๆที่ทางผู้ผลิตกระเบื้องต่างพัฒนาสินค้าออกมามากมายจนทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสรรได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ในด้านประเภทต่างๆของกระเบื้อง, คุณสมบัติจำเพาะบางประการที่ทางผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าขึ้นเพื่อให้สอดสอดคล้องกับความต้องการสำหรับการใช้งานในพื้นที่ต่างๆที่มีจุดประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันไปนั้นก็ได้มีการพัฒนาสินค้าขึ้นมาอย่างหลากหลาย จนทำให้บางครั้งผู้บริโภคอาจเกิดความสับสนหรือลังเลใจในการใช้งาน
บทความนี้จะทำให้ผู้อ่าน(ซึ่งอาจเป็นผู้ที่ต้องการใช้งานกระเบื้องเซรามิก) ได้มีความเข้าใจในประเภทของกระเบื้อง,คุณสมบัติที่เราควรจะคำนึงถึงสำหรับการใช้งานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อการใช้งานกระเบื้องที่ถูกประเภทกับพื้นที่ที่เราจะใช้ จะทำให้เราไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายต่างๆโดยไม่จำเป็น เช่นการปูกระเบื้องผิดประเภทในพื้นที่นั้นๆ,การซื้อกระเบื้องคุณภาพดี(ซึ่งแน่นอนว่าราคาจะสูงขึ้น)เกินไปกว่าความต้องการที่แท้จริง,อุบัติเหตุหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้งานผิดประเภท. ซึ่งเมื่อเราเข้าใจในชนิดต่างๆของกระเบื้องเซรามิกที่มีอยู่ในท้องตลาดแล้วและทราบว่าบริเวณที่เราจะใช้งานนั้นต้องการคุณสมบัติใดเป็นพิเศษ เราก็สามารถเลือกใช้กระเบื้องเซรามิกได้ตรงตามเจตนาของผู้ผลิตที่ต้องการตอบสนองความต้องการของเราอย่างสูงสุด
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักประเภทของกระเบื้องเซรามิกกันก่อน
กระเบื้องเซรามิกอาจแบ่งประเภทตามการใช้งานของกระเบื้อง ซึ่งมักเป็นวิธีการจำแนกประเภทตามแนวทางของลูกค้า เราสามารถแบ่งได้เป็น
1. กระเบื้องบุผนัง
2. กระเบื้องปูพื้น
3. กระเบื้องสำหรับตกแต่ง(ซึ่งอาจจะตกแต่งทั้งพื้นและผนัง)
ถ้าแบ่งตามประเภทของกระเบื้องของเนื้อดิน,ตามกระบวนการผลิตและคุณภาพตามที่มาตราฐานสากลยอมรับซึ่งเป็นการจำแนกประเภทตามแนวทางของผู้ผลิต เราสามารถแบ่งประเภทของกระเบื้องได้เป็น
1. กระเบื้องบุผนัง(เนื้อ Earthen ware)
2. กระเบื้องปูพื้น(เนื้อ Stone ware)
3. กระเบื้องโมเสค(เนื้อ Porcelain)
4. กระเบื้องแกรนิต(เนื้อ Porcelain)
5. กระเบื้องเคลือบเนื้อแกรนิต( Glaze porcelain )
6. กระเบื้อง Third firing
7. กระเบื้องที่ผลิตจากกระบวนการรีด( Spilt tile ซึ่งเป็นเนื้อStone ware หรือ porcelain )
8. กระเบื้องเนื้อแดงไม่เคลือบ ( Terra cotta ) ซึ่งมักเป็นเนื้อ Earthen ware
9. กระเบื้องที่มีรูปร่างพิเศษ ( Special shape )
10. กระเบื้องทำมือ ( Hand made )
สำหรับรายละเอียดของกระเบื้องในแต่ละชนิดนั้นมีดังนี้
1.กระเบื้องบุผนัง คือกระเบื้องที่ใช้สำหรับบุผนังของบ้านหรืออาคาร ในอดีตนั้นกระเบื้องบุผนังมักจะถูกจำกัดการใช้งานอยู่เพียงในห้องน้ำเท่านั้น แต่ในปัจจุบันผู้ผลิตกระเบื้องได้มีการพัฒนาสีสันลวดลายให้มีความสวยงามจนสามารถนำมามาใช้งานได้ในทุกพื้นที่ของบ้านหรืออาคาร ซึ่งข้อดีของการใช้กระเบื้องบุผนังทดแทนการทาสีหรือการใช้วอลล์เปเปอร์เพื่อตกแต่งให้ห้องมีความสวยงามขึ้นก็คือ กระเบื้องจะมีความทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทำความสะอาดง่ายกว่าวัสดุอื่นๆ และในปัจจุบันผู้ผลิตก็ได้ออกแบบลูกเล่นต่างๆในการตกแต่งตามไอเดียของเจ้าของบ้านเอง
เนื้อกระเบื้องสำหรับบุผนังนั้นจะต้องมีน้ำหนักเบา ดังนั้นจึงต้องมีความพรุนตัวสูง มีความแข็งแรงปานกลางจนถึงต่ำซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความแข็งแรงมากเท่ากับกระเบื้องสำหรับปูพื้น, ขนาดของกระเบื้องต้องมีความเที่ยงตรงมากในแต่ละแผ่นเพื่อที่เวลาปูกระเบื้องแล้วจะทำให้ได้แนวของกระเบื้องที่สวยงาม ดังนั้นการหดตัวของกระเบื้องชนิดนี้จะต้องต่ำมากหรือเรียกได้ว่าไม่เกิดการหดตัวเลย, ต้องไม่เกิดการรานตัว หรือการแตกร้าวของผิวเคลือบเมื่อใช้งานไปในระยะเวลาหนึ่ง ( เกิดdelay crazing ) อันเกิดเนื่องมาจากการขยายตัวเนื่องจากความชื้น , สีเคลือบต้องมีความทนทานต่อกรดและเบส เนื่องจากบางครั้งผู้ใช้งานอาจทำความสะอาดพื้นกระเบื้องด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดหรือเบสได้
เนื้อดินของกระเบื้องบุผนังนั้นจะเป็นเนื้อดินชนิด Earthen ware มี%การดูดซึมน้ำสูง (15-22%) และความแข็งแรงไม่สูงมากนัก สีเคลือบส่วนใหญ่มักจะเป็นผิวมัน ดังนั้นจึงไม่ควรนำเอากระเบื้องบุผนังไปใช้งานที่ต้องรับน้ำหนักมากหรือต้องสัมผัสกับน้ำอยู่ตลอดเวลา หรือใช้ในพื้นที่ที่มีการขูดขีดขัดสีอยู่ตลอดเวลาเช่นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นบ้าน เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผิวของกระเบื้อง ซึ่งจะทำให้ความสวยงามหมดลงไปได้ในที่สุด นอกจากนี้อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ถ้านำกระเบื้องบุผนังซึ่งมีผิวมันมากเป็นพิเศษ ไปใช้ปูพื้น
2. กระเบื้องปูพื้น จุดประสงค์หลักของกระเบื้องชนิดนี้ก็คือใช้สำหรับปูพื้นเพื่อให้เกิดความสวยงาม มีความคงทน ทำความสะอาดง่าย สามารถใช้ทดแทนวัสดุประเภทอื่นที่มีราคาสูงกว่าเช่น หินแกรนิต หินอ่อน พื้นไม้
เนื้อกระเบื้องเป็นเนื้อ Stone ware มี%การดูดซึมน้ำต่ำถึงปานกลาง (~3-6%) ความแข็งแรงปานกลาง ผิวเคลือบมีทั้งแบบผิวมันและผิวด้าน รวมทั้งลวดลายและสีสันที่มีให้เลือกมากมาย ขึ้นกับความต้องการของผู้ใช้งาน และขึ้นกับการใช้งานของพื้นที่ที่จะปูกระเบื้อง
คุณสมบัติที่สำคัญที่ผู้ใช้งานควรคำนึงถึงสำหรับกระเบื้องปูพื้นแบ่งได้เป็น2ส่วนคือส่วนที่เราเห็นหรือสัมผัสได้เช่น สีสัน ลวดลาย ลักษณะของผิวเคลือบ ขนาด คุณภาพของผิวหน้า ความโค้ง-แอ่นของกระเบื้อง กับส่วนที่เป็นคุณสมบัติทางกายภาพ ที่ผู้ใช้งานไม่สามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้แต่ทางผู้ผลิตได้มีการควบคุมคุณภาพตามมาตราฐานที่ได้มีการกำหนดเอาไว้เพื่อไม่ให้ลูกค้านำไปใช้งานแล้วเกิดปัญหาได้ในภายหลัง คุณสมบัติเหล่านี้ได้แก่
- ความแข็งแรงของเนื้อกระเบื้อง ซึ่งถ้ามีค่าต่ำเกินกว่ามาตราฐานอาจจะทำให้กระเบื้องแตกหรือร้าวได้ เมื่อใช้งานในพื้นที่ที่ต้องรับแรงกดมาก
- การดูดซึมน้ำ ถ้าการดูดซึมน้ำสูงเกินไปจะทำให้เฉดสีของกระเบื้องเปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากความชื้นที่สะสมอยู่ในเนื้อกระเบื้อง,อาจพบปัญหาน้ำเหนียวซึ่งมีลักษณะคล้ายเจล ทำความสะอาดยาก ทำให้พื้นผิวของกระเบื้องลดความสวยงามลง ซึ่งปัญหานี้จะพบร่วมกันกับปัญหาน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่ใช้งานและคุณภาพของปูนซีเมนต์ที่นำมาใช้งานไม่ได้ตามคุณภาพ และถ้าความขื้นมากเกินไปประกอบกับการดูดซึมน้ำของกระเบื้องสูงอาจพบปัญหาที่รุนแรงถึงขั้นกระเบื้องร่อนออกจากพื้นซีเมนต์ได้
- ความทนทานต่อการขูดขีด ซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพของผิวเคลือบ โดยส่วนใหญ่แล้วผิวเคลือบที่เป็นผิวมันจะมีความทนทานต่อการขูดขีดต่ำกว่าผิวเคลือบด้านจึงทำให้เกิดเป็นรอยได้ง่ายกว่า ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้งานของกระเบื้องผิวมัน ที่ควรหลีกเลี่ยงการขูดขีดที่จะเกิดขึ้น
- ความต้านทานต่อการขัดสี การใช้งานกระเบื้องปูพื้นนั้นคงไม่อาจหลีกเลี่ยงการเสียดสี ขัดสีระหว่างผิวกระเบื้องกับฝุ่นละออง ทราย กรวด ฯ ซึ่งเป็นวัสดุที่ทำอันตรายต่อผิวกระเบื้องเป็นอย่างมาก การทดสอบความทนทานต่อการขัดสีนั้นจะทำโดยการนำเอาผงขัดมาเข้าเครื่องขัดผิวหน้าของกระเบื้องโดยใช้จำนวนรอบในการขัดที่แตกต่างกัน และดูผลที่เกิดขึ้นกับผิวเคลือบภายหลังการขัดผิวหน้าของกระเบื้อง โดยมีการจัดระดับชั้นของกระเบื้องตามมาตราฐานของ PEI ( Porcelain Enamel Institution ) ค่าของแต่ละระดับชั้นเรียกว่าค่า PEI
ตารางการแบ่งระดับชั้นของการขัดสี ( PEI )
จำนวนรอบของการขัดสีที่สามารถมองเห็นรอยขัด |
ชั้นที่ |
100 |
0 |
150 |
1 |
600 |
2 |
750, 1500 |
3 |
2100,6000,12000 |
4 |
>12000และผ่านISO10545-14 สำหรับความต้านทานต่อคราบสี |
5 |
ในปัจจุบันมีผู้ผลิตกระเบื้องสำหรับปูพื้นหลายราย ได้มีการระบุค่า PEI ไว้ที่ข้างกล่องด้วย เพื่อใหัลูกค้ามีความชัดเจนและสามารถตัดสินใจได้ว่าพื้นที่ที่จะใช้งานนั้นควรใช้กระเบื้องที่มีค่าPEI เท่าใด
การจำแนกพื้นที่การใช้งานนั้นสามารถจำแนกได้ตามลำดับขั้นของค่า PEI ดังนี้
ขั้นที่ 0 กระเบื้องเคลือบสีในชั้นนี้ไม่แนะนำให้ใช้สำหรับปูพื้น
ขั้นที่ 1 ใช้ในพื้นที่ที่มีการสัญจรโดยสวมรองเท้าพื้นนิ่มหรือเท้าเปล่า โดยไม่มีฝุ่นละอองเช่นในห้องนอน ห้องน้ำ
ขั้นที่ 2 ใช้ในพื้นที่ซึ่งมีการสัญจรโดยสวมรองเท้าพื้นนิ่มหรือรองเท้าปกติ และมีฝุ่นผงบ้างในจำนวนน้อยเช่นห้องต่างๆภายในบ้าน
ขั้นที่ 3 ใช้ในพื้นที่ซึ่งมีการสัญจรบ่อยครั้งด้วยรองเท้าปกติและมีฝุ่นผงไม่มากนัก เช่นห้องครัว ภายในบ้าน ระเบียงทางเดิน ลานบ้าน
ขั้นที่ 4 ใช้ในพื้นที่ที่มีการสัญจรเป็นปกติ ซึ่งมีฝุ่นละอองมาก ทำให้มีสภาพที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าขั้นที่3 เช่นร้านอาหาร โรงแรม ห้องแสดงนิทรรศการ
ขั้นที่ 5 ใช้ในพื้นที่ที่มีการสัญจรพลุกพล่านเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานโดยมีปริมาณฝุ่นผงขัดสีเช่นทราย,กรวด จำนวนมากเป็นสภาพการใช้งานที่รุนแรงที่สุดซึ่งกระเบื้องปูพื้นชนิดเคลือบสีจะรองรับได้ เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ทางเดินสาธารณะ สถานีรถไฟ(ฟ้า) สถานีรถประจำทาง
ดังนั้นผู้ใช้งานควรรู้ก่อนว่าเราจะใช้กระเบื้องสำหรับพื้นที่ใด แล้วจึงเลือกกระเบื้องตามค่าPEI ที่ระบุไว้ให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่นการสูญเสียพื้นผิวที่สวยงามไปในระยะเวลาอันสั้น
- ความต้านทานต่อสารเคมี เนื่องจากว่าการทำความสะอาดพื้นกระเบื้องเซรามิกนั้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือเบส น้ำยาทำความสะอาดบางยี่ห้อมีฤทธิ์ที่จะกัดคราบสกปรกได้รุนแรงมาก ซึ่งถ้าผิวเคลือบของกระเบื้องไม่สามารถทนทานต่อการกัดกร่อนเหล่านั้นได้ก็จะทำให้ความสวยงามของพื้นกระเบื้องลดลงและสูญเสียความมันวาวไปในที่สุด ดังนั้นกระเบื้องปูพื้นเซรามิกที่ดีควรผ่านการทดสอบสารเคมีและรับประกันกับลูกค้าได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด
|
|
|
|
|
|
|