กระเบื้องแสงรุ้งกลาสโมเสค
Pakarung - Think Ceramic Think Pakarung
ซิเบลโก้ มิเนอร์รัลส์ จัดหาแร่คุณภาพสำหรับอุุตสาหกรรมเซรามิคส์
Ferro
Keramat
MS Industrial Supplies
Ceramics R Us
Glaze mixing

การผสมกันของสีเซรามิก
ดร. คชินท์ สายอินทวงศ์

จะว่าไปแล้วเส้นข้ามระหว่างงานศิลปะกับของที่มีตำหนินั้นมันแบ่งกันด้วยเส้นบางๆเท่านั้น คนทำงานศิลปะอาจมองเห็นความงามของงานชิ้นหนึ่งในขณะที่คนเดินดินกินข้าวแกงอาจมองว่าไร้ค่า ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น หลายต่อหลายครั้งที่งานศิลป์ที่มีคุณค่านั้นกว่าที่มันจะมีคุณค่าได้ก็อาจใช้เวลาหลายร้อยปี หรือต้องผ่านการเสนอผลงานของศิลปินเจ้าของงานชิ้นนั้นจนคนฟังเคลิ้มตาม คนทำงานศิลปะคงเถียงไม่ได้กระมังว่าหลายต่อหลายครั้งที่เราดูงานเพียงเพราะชื่อของเจ้าของงาน ยิ่งถ้างานนั้นเป็นของบุคคลที่มีชื่อเสียงต่อให้งานบิดเบี้ยวเพียงไร ใครต่อใครก็มองว่าสวยเหลือเกิน กล้าที่จะแหวกกฎ แตกแบบมีศิลป์ ยืนดูงานกันอยู่ห้าคน โอโฮไปแล้วสาม แล้วที่เหลืออีกสองจะพลอยมองไม่เห็นความงามเชียวหรือ ครั้งหนึ่งผมไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่นิวยอร์ค ที่ซึ่งรวบรวมภาพเขียนของสุดยอดจิตรกรของโลกไว้มากมาย ค่อยๆเดินดูภาพเขียนทีละภาพด้วยความละเลียด (จริงแล้วเพื่อให้คุ้มค่าตั๋ว) ในฐานะคนไม่ได้เรียนศิลปะแต่สนใจ บทสรุปที่ผมได้รับจากการดูในครั้งนั้นก็คือภาพวาดกว่า 80% ในพิพิธภัณฑ์ที่มีมูลค่ามหาศาลนั้น ศิลปินไทยหลายต่อหลายคนสามารถรังสรรค์งานเช่นนั้นได้ หลายภาพที่ยืนมองถ้าไม่อ่านประวัติกับคำบรรยายภาพประกอบก็จะไม่ทราบเลยว่ามันมีคุณค่าอย่างไร เห็นไหมว่าแค่ความงามอย่างเดียวอาจไม่พอเพียง ต้องสร้างเรื่องราวและโน้มน้าวให้คนดูคล้อยตามด้วย

ผมเคยเอาภาพถ้วยชาใบนี้ไปให้คนที่รู้จักหลายคนวิจารณ์ ถ้าผมบอกว่าเป็นฝีมือผม คนที่รู้จักผมในฐานะนักเซรามิกแบบอุตสาหกรรมก็จะบอกว่าทำไมเคลือบไม่ติดในบางส่วน ทำไมเคลือบเอนโกบไม่ดีปล่อยให้มีรอยร้าวเล็กๆ ขึ้นรูปก็ไม่ดีมีรอยร้าวตั้งแต่ตอนอบแห้ง แล้วสีอะไรก็ไม่รู้เลอะเทอะไปหมด เพราะพวกที่วิจารณ์ผมนี้อยู่ในแวดวงของการผลิตเซรามิกเพื่อการค้าเป็นอุตสาหกรรม แต่ถ้าเอาไปให้คนที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตดูหลายคนชอบ แต่อีกหลายคนก็เฉยๆ แต่ไม่มีคำกล่าวเกี่ยวกับรอยร้าว หรือสีไม่ติด

น่าเสียดายที่ถ้วยชาใบนี้ผมไม่ได้ทำเองแต่เป็นฝีมือของศิลปินเซรามิกที่มีชื่อเสียงในการปั้นถ้วยชาชาวญี่ปุ่นชื่อคุณชิโร่ ซูจิมูระ และถ้วยใบนี้ก็เป็นถ้วยชาที่มีชื่อเสียงของศิลปินคนนี้ ผมไม่รู้มูลค่าของถ้วยชาใบนี้ แต่ก็น่าจะประเมินได้ว่าคงมีคนทุ่มทุนซื้อด้วยราคาสูงมากทีเดียว ซึ่งแน่นอนถ้าบอกราคานี้ให้กับคนที่วิจารณ์ถ้วยชาใบนี้ที่คิดว่าเป็นฝีมือผม พวกเขาคงหัวเราะและกล่าวหาคนที่ซื้อว่าบ้า

ปริมาณของคนที่อยากซื้อถ้วยใบนี้กับคนที่บอกว่าบ้า ในโลกใบนี้ฝั่งใดจะมีจำนวนมากกว่ากัน ผมว่าคงหาคำตอบได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากก็คือเราจะทำอย่างไรกับจำนวนคนที่ตอบว่าบ้า ให้มาสนใจกับงานเซรามิกของเรา นี่แหละหน้าที่ของนักออกแบบและผู้ผลิตงานเซรามิก

ในปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าเซรามิกจากจีนเป็นหนามทิ่มแทงอุตสาหกรรมเซรามิกบ้านเราอย่างมาก ทำอย่างไรที่เราจะฉีกหนีสินค้าจากจีนได้ ส่วนหนึ่งโรงงานเซรามิกของบ้านเราที่ยังยืนหยัดสู้กับจีนได้นั้นยังมีอยู่อีกมาก และสู้ได้สบายมากด้วย แต่โรงงานเหล่านี้จำเป็นต้องมีการพัฒนารูปแบบ สีสัน เทคนิคในการผลิตใหม่ๆ การใช้งานใหม่ๆ มาสู้กับสินค้าจากจีน การพัฒนารูปแบบและสีสันใหม่ๆให้ก้าวไกลนั้นนอกจากไอเดียการออกแบบที่ดีแล้ว จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสีเคลือบ กระบวนการเคลือบและการเผาเป็นอย่างดี สีเซรามิกนั้นไม่เหมือนกับการเขียนสีน้ำหรือสีน้ำมัน เพราะสีเซรามิกนั้นสิ่งที่เห็นก่อนเผาอาจจะให้ผลตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงเมื่อผ่านการเผาที่อุณหภูมิสูง ดังนั้นการรังสรรค์งานเซรามิกให้ได้ดีและสามารถสร้างงานศิลป์ให้ผลิตเป็น Mass production ได้จำเป็นต้องเข้าใจในสูตรสีเคลือบแต่ละสูตรและธรรมชาติของมันเวลาผสมเข้ากับสีตัวอื่น รวมทั้งรู้จักเทคนิคในการเคลือบและตกแต่งสีลงบนชื้นงาน (Glaze application)



เทคนิคที่ใช้กันโดยทั่วไปในการเคลือบคือการจุ่ม (Dipping) แต่การจุ่มนั้นจะทำให้ได้สีเคลือบที่มีความหนาใกล้เคียงกัน ทำให้งานดูแข็งๆไม่มีมิติเท่าที่ควร สำหรับการสเปรย์สีเราจะสามารถควบคุมปริมาณสี ความหนา ฝอยของการสเปรย์ และถ้าเรามีการสเปรย์ทับกันหลายๆสีตรงรอยต่อของสีจะทำให้เกิด effect บางอย่างที่การจุ่มเคลือบทำไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจในเคลือบของเราดี ตรงรอยต่อของสีทั้งสองอาจสร้างสีที่สามขึ้นมาได้ แต่ถ้าสีเคลือบที่นำมาทับกันไม่สามารถเข้ากันได้เนื่องจากจุดหลอมตัวและ COE ต่างกันก็จะเกิดเป็นรอยร้าวหรือมีฟองอากาศเกิดขึ้นและกลายเป็นของตำหนิในที่สุด

การใช้เทคนิคเคลือบทับ โดยให้ชั้นแรกเป็นเสมือนชั้นเอนโกบและทับด้วยชั้นเคลือบที่สามารถทำปฏิกิริยากับชั้นเอนโกบได้ก็จะได้ สีสันและริ้วสีที่แปลกตาไป ซึ่ง Texture เหล่านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างอาทิเช่น ความหนาของชั้นเคลือบ ความหนาแน่นของเคลือบ รูปทรงของผลิตภัณฑ์ การไหลตัวของเคลือบในขณะหลอม อุณหภูมิในการเผา ซึ่งเราเรียกเคลือบแบบนี้โดยรวมๆว่า Reactive glaze ซึ่งในรายละเอียดเกี่ยวกับการทำเคลือบ Reactive นี้จะเขียนถึงในครั้งต่อไป

เทคนิคการใช้แปรงทา (Brushing) การสลัดสีโดยใช้พู่กัน การจ้ำสีโดยใช้ฟองน้ำ การเขียนลายใต้เคลือบและบนเคลือบ ต่างก็เป็นเทคนิคที่หลายๆโรงงานนำมาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าเราจำเป็นต้องรู้จักสีที่เราจะนำมาใช้งานให้เป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นแล้วสิ่งที่เราคาดหวังไว้ก่อนเผาอาจจะตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงหลังผ่านอุณหภูมิสูงไปแล้ว

สิ่งเหล่านี้เกิดจากการทดลองทั้งสิ้นไม่มีตำราตายตัว แต่อย่างน้อยก็อยู่บนพื้นฐานตามทฤษฏี เช่นเคลือบสูตรพื้นฐานเดียวกันย่อมเข้ากันได้ดีกว่า แต่ถ้าต้องการ effect แปลกๆโดยใช้การราดเคลือบทับกันในหลายๆชั้นต้องใช้เคลือบที่มีพื้นฐานต่างกันแต่ต่างกันแบบเข้ากันได้โดยเคลือบที่ถูกทับควรจะต้องมีจุดอ่อนตัว (Softening point)ที่สูงกว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟองอากาศหรือเคลือบเดือดหลังเผา การตกแต่งเคลือบให้มีความหนามากเกินไปก็จะเกิดปัญหา Over firing ได้ง่าย การบดเคลือบหยาบเกินไปผิวเคลือบก็จะไม่สวย เป็นต้น

แต่อย่าลืมว่าหลังจากสร้างงานสวยๆแล้วต้องสร้างเรื่องราวให้ดูน่าสนใจด้วย งานจะได้มีราคาขึ้นมาอีกมากใครๆก็ต้องโฆษณางานของตัวเอง ไม่อย่างนั้นธุรกิจโฆษณาคงไม่เฟื่องฟูอย่างเช่นทุกวันนี้หรอก