กระเบื้องแสงรุ้งกลาสโมเสค
Pakarung - Think Ceramic Think Pakarung
ซิเบลโก้ มิเนอร์รัลส์ จัดหาแร่คุณภาพสำหรับอุุตสาหกรรมเซรามิคส์
Ferro
Keramat
MS Industrial Supplies
Ceramics R Us
การผลิตกระเบื้อง Rustic

กระเบื้องที่เลียนแบบหินธรรมชาติ
ดร. คชินท์ สายอินทวงศ์

ในปัจจุบันแนวโน้มของวัสดุที่เลียนแบบธรรมชาติได้มีความนิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเซรามิก พลาสติก คอนกรีต วัสดุสังเคราะห์ ซึ่งเลียนแบบวัสดุจากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นหิน ไม้ ในวัสดุทดแทนเหล่านี้นับว่าเซรามิกเป็นวัสดุที่สามารถทำได้เหมือนหินธรรมชาติที่สุด โดยเฉพาะกระเบื้องเซรามิกซึ่งมีเครื่องจักรและเทคนิคมากมายที่จะมาตกแต่งหน้ากระเบื้องให้มีความรู้สึกใกล้เคียงธรรมชาติมาก คำเรียกกระเบื้องที่ผลิตกระเบื้องเลียนแบบหินธรรมชาตินี้คือกระเบื้อง Rustic เราลองมาทำความรู้จักกระเบื้อง Rustic และกระบวนการผลิตกันนะครับ


กระเบื้อง Rustic เป็นกระเบื้องที่มีผิวเคลือบด้าน มีพื้นผิวที่ทำร่องรอยให้คล้ายลักษณะของชั้นหินตามธรรมชาติหรืออาจจะเป็นพื้นผิวราบเรียบแบบกระเบื้องทั่วไปก็ได้ สีสันส่วนใหญ่เป็นในแนว Earth tone เช่นสีน้ำตาลแดง สีเทอร์ราคอตต้า สีเทาดำ สีเขียวเทา โดยแต่ละแผ่นจะมีสีสันที่แตกต่างกันไปบ้างไม่ได้เหมือนกันทุกแผ่นซึ่งเป็นเสน่ห์ของกระเบื้องชนิดนี้ เมื่อมาปูรวมกันก็จะทำให้เกิดความกลมกลืนได้

กระบวนการผลิตกระเบื้อง Rustic เริ่มต้นจากการทำแบบพิมพ์ที่เรียกว่า Structure mould ซึ่งลวดลายของ Mould นี้จะทำให้กระเบื้องชนิดนี้ต่างจากกระเบื้องหน้าเรียบธรรมดาบางครั้งอาจมีการกัดที่ขอบกระเบื้องให้เป็นรอยยักเหมือนรอยแตกของหิน เมื่อทำการกัด Lower punch เป็นรูปแบบที่ต้องการแล้วก็นำมาอัดเป็นกระเบื้องที่เป็นรูปตาม Structure mould หลังจากผ่านเตาอบแล้วก็นำไปเคลือบเอนโกบด้วย Double disc หลังจากนั้นจะผ่านตู้สเปรย์ที่สเปรย์สีเคลือบเพื่อให้สีลงไปในร่องของ Structure mould แล้วจึงขัดสีออกบางส่วนในบริเวณที่สีอยู่ด้านบนกระเบื้อง ส่วนสีที่อยู่ในร่องจะยังฝังอยู่ การขัดสีออกนี้จะใช้เครื่อง Brushing machine ซึ่งประกอบด้วยชุดฟองน้ำที่มีมอเตอร์หมุนแกนให้ฟองน้ำหมุนรอบตัวเอง เมื่อกระเบื้องที่ต้องการขัดสีวิ่งผ่านเข้ามา ฟองน้ำก็จะขัดเอาสีบางส่วนออกไป ดังนั้นจุดที่ต้องควบคุมคุณภาพของเครื่อง Brushing ก็คือระดับของฟองน้ำที่ต้องสัมผัสพอดีกับหน้ากระเบื้องซึ่งถ้ากดมากไปก็จะทำให้กระเบื้องแตกได้ แต่ถ้ากดน้อยไปก็อาจจะทำให้การปัดสีออกไม่หมดซึ่งจะทำให้เฉดสีของกระเบื้องเปลี่ยนไป


รูป Structural mould

รูป Brushing machine รูป Air spray

หลังจากผ่าน Brushing machine แล้ว ก็จะเข้าตู้ Double disc เพื่อทำการเคลือบสี ซึ่งสีเคลือบสำหรับกระเบื้อง Rustic นั้นส่วนใหญ่จะเป็นเคลือบด้านที่มีความทนทานต่อการขัดสีได้ดี เมื่อเคลือบแล้วอาจมีการตกแต่งเพิ่มเติมอีกเช่นการใช้Air spray แบบ Random หรือสเปรย์โดยใช้ Side spraying เพื่อทำการสเปรย์ที่มีลักษณะคล้ายการแรเงาบนกระเบื้องที่เป็นStructure mould แรงๆ เมื่อผ่านตู้เคลือบแล้วก็จะถึงการตกแต่งด้วยการสกรีน สำหรับกระเบื้อง Rustic มักจะใช้การสกรีนโดยใช้เครื่อง Roto color เนื่องจากว่า Roto color นั้นสามารถสกรีนให้มีลวดลายแตกต่างกันได้ในแต่ละแผ่น เนื่องจากตัว Silicone drum ที่ใช้ในการสกรีนนั้นจะมีการกัดลวดลายของหินแบบต่างๆรอบ Drum เมื่อกระเบื้องวิ่งเข้าไปใน Silicone drum ก็จะเกิดการพิมพ์ลวดลายลงบนหน้ากระเบื้องซึ่งจังหวะในการสกรีนจะไม่ตรงกันทุกแผ่นทำให้กระเบื้องแต่ละแผ่นมีลวดลายที่แตกต่างกันซึ่งมีข้อดีกว่าการสกรีนแบบ Flat printing ที่ลวดลายจะซ้ำการทำให้กระเบื้อง Rustic จะดูไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร

  
รูป Side spraying


รูป Roto color

นอกจากเครื่องสกรีน Roto color ของบริษัท System แล้ว ก็ยังมี Drum printing ของ Techno Italia ที่มีหลักการในการสกรีนที่ใกล้เคียงกันคือสามารถทำให้กระเบื้องเกิดการ Random และมีลวดลายไม่ซ้ำกันในแต่ละแผ่นได้

เมื่อผ่านเครื่องสกรีนไปแล้วก็อาจมีการตกแต่งให้ดูมีมิติและมีความแตกต่างในแต่ละแผ่นมากขึ้นโดยใช้การสเปรย์สีที่สามารถควบคุมตำแหน่งของการสเปรย์ลงบนหน้ากระเบื้องได้รวมทั้งมีสีที่ใช้ในการสเปรย์หลายสี เครื่องสเปรย์ในปัจจุบันสามารถตั้งโปรแกรมได้ว่าให้จังหวะไหนมีการแกว่งของหัวสเปรย์ไปในทิศใดและจะสเปรย์สีใดก่อนหลัง หรือจะสเปรย์พร้อมกันแต่คนละตำแหน่งก็ได้ กระเบื้องที่ได้จากการใช้เครื่องสเปรย์แบบนี้จะมีความแตกต่างของสีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มของสีที่จะสเปรย์รวมทั้งปริมาณที่ลงบนหน้ากระเบื้องด้วย


รูป Drum printing


รูป Mix color

เมื่อผ่านการตกแต่งด้วยการสเปรย์ไปแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายก่อนเสร็จสิ้นกระบวนการคือการเคลือบสีสุดท้ายเพื่อใช้เป็นเคลือบสำหรับการป้องกันการขัดสีบนหน้ากระเบื้องได้ สีเคลือบที่นำมาใช้นั้นจะเป็นเคลือบด้านที่ค่อนข้างใส (Transparent matt) เพื่อให้มองเห็นสีต่างๆที่เราตกแต่งมาตั้งแต่ตอนต้น และสิ่งสำคัญก็คือต้องเป็นเคลือบที่สามารถทนการขัดสีได้ดี ที่บริเวณตู้ Disc สุดท้ายนี้อาจใช้เป็น Double disc หรือเป็น Single disc ก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำหนักที่เราต้องการ บางครั้งที่ตู้เคลือบสุดท้ายนี้จะมีการใส่ผง Al2O3, ผง Corundum, Zircon sand ลงไปในเคลือบแล้วผสมให้เข้ากันแล้วจึงปั๊มผ่านตู้ Disc เพื่อสบัดไปลงบนหน้ากระเบื้องซึ่งสีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความทนทานต่อการขัดสีได้ดีขึ้นมากและทำให้ผิวหน้ามีความสากด้านมาก โดยปกติแล้วค่าระดับของการทนทานต่ดการขัดสีของกระเบื้อง Rustic นั้นจะมีค่าที่สูงกว่ากระเบื้องปกติ ค่าทั่วๆไปจะอยู่ที่ค่า PEI 3 ขึ้นไป

จะเห็นได้ว่าในการผลิตกระเบื้อง Rustic นั้น จะต้องมีเครื่องจักรอยู่ในGlazing line จำนวนมาก บางโรงงานที่ใส่เครื่องจักรใน Line ครบทุกตู้ก็แทบจะไม่เหลือช่องว่างใน Glazing line เลย บางลวดลายอาจต้องมีการเคลือบถึง 15 application เลยทีเดียว แต่ก็แลกกับความสวยงามมีเสน่ห์ที่เลียนแบบธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนและส่วนใหญ่กระเบื้อง Rustic ที่ผลิตก็มักมีของเสียหรือมีตำหนิน้อยมากเนื่องจากตำหนิหลายประเภทจะดูกลมกลืนจนดูไม่น่าเกลียดเช่นจุดดำ สกรีนขาด (เล็กน้อย) รูเข็ม หน้าหลุม โรงงานในประเทศไทยที่สามารถผลิตกระเบื้อง Rustic ได้แบบ Full option เลยก็เห็นจะเป็นสามยี่ห้อใหญ่ในวงการกระเบื้องเซรามิกได้แก่ COTTO CAMPANA และ DURAGRES นั่นเอง