กระเบื้องแสงรุ้งกลาสโมเสค
Pakarung - Think Ceramic Think Pakarung
ซิเบลโก้ มิเนอร์รัลส์ จัดหาแร่คุณภาพสำหรับอุุตสาหกรรมเซรามิคส์
Ferro
Keramat
MS Industrial Supplies
Ceramics R Us
ผลิตภัณฑ์ศิลาดล

ผลิตภัณฑ์ศิลาดล
ดร. คชินท์ สายอินทวงศ์

คำว่าศิลาดลหมายถึงผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีสีเขียวหยก มีสีเขียวไข่กา มาจากคำว่า "ศิลา" และ "ดล" เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่าเคลือบบนหิน หรือเคลือบหิน

       แต่สำหรับคำทั่วไปที่ใช้เรียกผลิตภัณฑ์ชนิดนี้คือ "เซลาดอน" ซึ่งมีที่มาหลายอย่าง อาจจะหมายถึงผลิตภัณฑ์ซึ่งหุ้มด้วยหยก ภาษาฝรั่งเศส ใช้เรียก เคลือบสีเขียวของภาชนะดินเผาจากทางตะวันออกที่เคลือบบนเนื้อดินปั้นชนิดเนื้อสโตนแวร์และพอซ์สเลน ทางตะวันตกเชื่อกันว่าคำนี้มาจากชื่อของคนเลี้ยงแกะที่ชื่อ เซลาดอน (Celadon) ซึ่งสวมเสื้อคลุมสีเขียวอมเทาในละครที่ได้รับความนิยมมากในคริสต์ศตวรรษที่ 17 คือ D'Urfe's Romance of Astree ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับเคลือบเขียวที่ดูสวยงามและมีคุณค่าของจีน กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุโรป

       ในกลุ่มของผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบันได้นำคำว่า "เซลาดอน" มาใช้อย่างแพร่หลาย โดยให้คำจำกัดความว่า เครื่องปั้นดินเผาเซลาดอน หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อแกร่ง เคลือบด้วยน้ำเคลือบที่ทำจากเถ้าถ่านจากไม้และหินฟันม้า ซึ่งมีส่วนผสมของแร่เหล็กและเผาในอุณหภูมิสูงถึง 1,250 องศาเซลเซียส กระบวนการเผาของผลิตภัณฑ์เซลาดอนจะเผาในบรรยากาศแบบ Reduction คือการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์โดยออกซิเจนมีสัดส่วนน้อยกว่าเชื้อเพลิงซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีการเผาแบบ Oxidation ซึ่งเป็นการเผาที่มีส่วนของอากาศให้มากกว่าเชื้อเพลิง โดยปกติออกซิเจนในอากาศเป็นตัวช่วยในการเผาไหม้ได้ดี โดยสัดส่วนของทั้งเชื้อเพลิงและอากาศพอเหมาะกัน ถ้าเชื้อเพลิงมากอากาศน้อยทำให้เกิดเป็นกาซคาร์บอนมอนออกไซด์ อาจเกิดเขม่าควันไฟได้ ถ้ามากเกินไปคาร์บอนมอนออกไซด์ที่เหลือจากการเผาไหม้นี้จะดึง ออกซิเจนในน้ำยาเคลือบออกมาทำปฏิกิริยาทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ นี่คือวิธีการเผาแบบรีดักชั่นและมีผลทำให้สีเคลือบเปลี่ยนไปจากที่ควรเป็นด้วย ก่อให้เกิดสีเขียวจากเหล็กที่ถูกรีดิวส์ให้เกิดสีเขียวไข่กาแบบเครื่องสังคโลกของสุโขทัย สีเขียวที่ว่านี้ได้จากเหล็กออกไซด์ คือ Fe2O3 ซึ่งตามปกติถ้าผ่านการเผาแบบเติมออกซิเจน (Oxdation Firing) จะให้สีตั้งแต่เหลืองครีมจนถึงน้ำตาลเข้มสุดแท้แต่ชนิดของน้ำยาเคลือบและปริมาณมากน้อยของเหล็กออกไซด์ แต่การเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีเขียวไข่กานั้นก็เนื่องมาจากการเผาแบบรีดักชั่นนั่นเองซึ่งในสมัยโบราณใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงปัจจุบันอาจใช้น้ำมัน แก๊ส หรือแม้แต่เตาไฟฟ้า ก็อาจทำให้บรรยากาศในเตามีสภาพคล้าย Reduction ได้ สีเขียวไข่กาประกอบด้วย Shade ต่างๆ ตั้งแต่สีเขียวใส เขียวอมฟ้า เขียวอม เทาแก่อ่อนไม่สู้คงตัวนัก แต่ก็จัดอยู่ในประเภทเขียวทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากน้ำยาเคลือบสังคโลกโบราณนั้นผสมจากเถ้าไม้ และดิน ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการวิเคราะห์ทางเคมี พบว่า ในเถ้าไม้และพืชบางชนิดมีสารประกอบของ Sillica,Alumina,Alkaliess (Sodium, Potassium), Calcium ตามเปอร์เซ็นต์มากน้อยต่างกัน นอกจากนี้ยังเหล็กออกไซด์ (Ferrica) และอย่างอื่นผสมอยู่เล็กน้อย

       การเปลี่ยนสีจากน้ำตาลเป็นเขียวนั้นเป็นการเปลี่ยนรูปจาก Ferric State เป็น Ferrous State และสีเขียวที่แตกต่างกันไปบ้างนั้นขึ้นอยู่กับบรรยากาศ ในเตาเผาวัตถุดิบทางเคลือบปริมาณมากน้อยของ Ferric Oxide ปริมาณของออกไซด์ในวัตถุดิบที่ใช้ทำน้ำยาเคลือบและเนื้อดินปั้นที่แตกต่างกันจะส่งผลถึงลักษณะของเคลือบอย่างหนึ่งคือ การรานตัว (Crazing) ซึ่งเกิดจากการที่สัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจากความร้อนของเนื้อดินกับสีเคลือบมีค่าที่แตกต่างกัน โดยสีเคลือบมีค่าสูงกว่าเนื้อดินอยู่พอสมควร

       การรานตัวหรือการแตกลายงานั้น หากในน้ำยาเคลือบมีปริมาณของ Na2O สูงทำให้สัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจากความร้อนของน้ำเคลือบสูงกว่าเนื้อดินอย่างมากทำให้เกิดการรานได้ทั้งละเอียดและทั้งหยาบ การรานตัวนี้ถือว่าเป็นความสวยงามของเคลือบอย่างหนึ่ง แต่ไม่เหมาะสำหรับใช้เป็นภาชนะใส่อาหารรับประทาน เพราะอาหารจะซึมซับสะสมตามรอยรานได้ง่าย การรานของผิวเคลือบทั่วๆ ไป อาจตกแต่งให้เห็นรอยราน ชัดเจนได้ โดยวิธีทาน้ำยาสีละเอียด ให้ซึมลงในรอยราน แล้วนำไปเผาให้สีติดอีกครั้งหนึ่ง หรืออาจนำผลิตภัณฑ์เคลือบออกจากเตาขณะยังร้อน แล้วใช้สีชนิดที่เป็นไขเช็ดลงบนผิวเคลือบ ความร้อนจะช่วยละลายไข ให้ซึมลงในรอยรานอย่างเร็ว ในกรณีนี้ไม่มีการเผาซ้ำอีก หรืออาจใช้น้ำหมึกสีต่างๆโดยเฉพาะสีดำทาลงบนผิวภาชนะหรืออาจเป็นยาขัดรองเท้า น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วก็ได้เช่นกัน เมื่อสีซึมลงในรอยรานแล้วก็เช็ดทำความสะอาดภาชนะนั้น

       เครื่องเคลือบดินเผาสีเขียวของจีนมีชื่อเสียงมากในราชวงศ์ซ้อง ค.ศ. 960-1279 โดยเฉพาะที่เตาลุงชวน (Lung-Chuan) ในมณฑลซีเกียงอันใช้เนื้อดินปั้นละเอียดสีขาว เพิ่มความสดใสของเคลือบดูกระจ่างมีความลึก เป็นที่กล่าวขวัญกันว่า เคลือบจากเตาลุงชวนนี้ให้ความรู้สึกนุ่มเนียนประดุจกำมะหยี่ เป็นที่รู้จักกันมากในนามของ เคลือบเซลาดอน (Celadon) วิธีตกแต่งผิวดินที่ทำมากคือ การแกะลายลึกในเนื้อดินปั้น ทำให้น้ำเคลือบขังในตัวลายมากกว่าบนพื้นเกิดลายสีเข้ม ซึ่งเป็นวิธีการตกแต่งแบบเดียวกับเครื่องสังคโลกของไทย อันมีเนื้อดินปั้นสีคล้ำ เคลือบสังคโลกสีเขียวไข่กานั้นก็คือเคลือบเซลาดอนนั่นเองเตาเผาเซลาดอนในจีนมิได้มีเพียงเตาลุงชวน หากแต่ยังมีในมณฑลโฮนาน ซึ่งเป็นมณฑลทางเหนือของจีน ใกล้เมืองไคเล็งฟู

       เคลือบเซลาดอนของจีนให้อิทธิพลแก่งานเคลือบของเกาหลีเป็นอย่างมาก ซึ่งเกาหลีจะใช้วิธีการเคลือบ Celadon ทับลงบนเนื้อดินที่ถมช่องลายด้วยน้ำดินสีข้นๆ มีทั้งสีดำและสีขาว ส่วนเนื้อดินปั้นมักเป็นสีออกเทา หลังการเผาจะได้ผลเป็นสีโทนเดียวกันเนื่องจากสีเขียวใสคลุมพื้นภาชนะทั้งหมดทำให้ได้น้ำหนักของสีเป็นสีเขียวอ่อนตรงที่ตกแต่งด้วยดินสีขาว เขียวเข้ม ดำ ตรงน้ำดินสีดำ และเขียวกลางตรงเนื้อดินปั้น

       อิทธิพลทางเครื่องเคลือบดินเผาของจีนได้ให้อิทธิพลแก่โลกอย่างมากนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา โดยเข้าสู่ยุโรป ตลอดคาบสมุทรอินโดจีน ตามหมู่เกาะต่างๆ ตลอดจนแนวตะวันออกเฉียงใต้ โลกอาหรับ แม้กระทั่งเมืองทางฝั่งตะวันออกของแอฟริกา เช่น เมืองซานซีบาร์ การที่จีนสามารถแผ่อิทธิพลทางเครื่องเคลือบดินเผาอย่างกว้างใหญ่ไพศาลนั้น แสดงว่าจีนต้องมีความแกร่งและเชี่ยวชาญในการผลิตผลงาน แม้จะเชื่อกันว่าความรู้เรื่องเคลือบดั้งเดิมบางชนิดเข้าสู่จีนจากทางเมโสโปเตเมีย (ตะวันออกกลาง) ก็ตาม แต่จีนก็สามารถได้รับการยกย่องเป็นผู้นำในกระบวนการต่างๆ ของเทคนิคเครื่องเคลือบดินเผามาตลอด จนถึงระยะเสื่อมในราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งตรงกับราชวงศ์เช็ง ตัวอย่างเช่น จีนเป็นผู้นำการผลิตเซลาดอนต่างๆ มีความรู้ความเข้าใจทางความงามและเทคนิคการเคลือบลักษณะต่างๆ ซึ่งเด่นมากของสมัยราชวงศ์ซ้อง ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 จีนสามารถคิดประดิษฐ์ลายครามได้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน ในคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 จีนสามารถคิดค้นน้ำยาเขียนสีซึ่งเป็นชนิดเดียวกับเครื่องเบญจรงค์ของไทย การใช้สีเขียนเป็นทางนำไปสู่รูปแบบใหม่ๆ ของการใช้สีสดใส นับแต่สมัยราชวงศ์เหม็ง ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา

       การทำเครื่องปั้นดินเผาในภาคเหนือของไทยมีมานานแล้ว หลักฐานเก่าที่พบ ได้แก่เครื่องปั้นดินเผาหริภุญไชยในเขตลำพูน อันเป็นวัฒนธรรมทวารวดีตอนปลายประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ลงมา แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมในอดีตบนดินแดนแถบนี้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันดี ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาที่มีอายุหลังลงมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 อันเป็นสมัยของแคว้นสุโขทัยและล้านนาในภาคเหนือตอนบนพบแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาหลายแห่ง เช่น ที่ อ.สันกำแพงจ.เชียงใหม่ ซึ่งเรียกกันในชื่อเฉพาะว่าเครื่องปั้นดินเผาสันกำแพง

       ด้วยเหตุที่แต่ละท้องถิ่นจะมีลักษณะของผลงานแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังมีเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง ซึ่งพบที่อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เครื่องปั้นดินเผาพะเยา จ.พะเยา ตามแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ได้พบซากเตาเผาและเศษเครื่องปั้นดินเผาอยู่ทั่วไป เชื่อว่าเป็นการผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กันอยู่ในท้องถิ่นแต่ก็คงเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันด้วยเพราะได้พบหลักฐานเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากตามเทือกเขาสูงแนวพรมแดนไทย-พม่า ในเขต อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และจ.ตาก หนึ่งในจำนวนนั้น เป็นเครื่องปั้นดินเผาจากเตาสันกำแพง

       เมื่อพิจารณาถึงความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมล้านนาตั้งแต่ต้นราชวงศ์มังรายลงมาอันมีหลักฐานทางสถาปัตยกรรมประติมากรรม วรรณคดี ฯลฯ ก็ไม่น่าสงสัยว่าเครื่องปั้นดินเผาในล้านนาคงจะเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับศิลปวัฒนธรรมอื่นๆเพียงแต่ขาดการขุดค้นศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาล้านนาไม่กระจ่าง

       เซลาดอนเชียงใหม่ยุคปัจจุบันได้กำเนิดขึ้นมาประมาณเมื่อกว่า 80 ปีมาแล้ว โดยชาวไทยใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งไม่ทราบประวัติแน่ชัดว่าอพยพมาจากรัฐฉานในประเทศพม่าหรือมาจากถิ่นใด ชาวไทยใหญ่เหล่านี้ ตั้งบ้านเรือนและเตาทำเครื่องปั้นดินเผาขึ้นมาเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านหรือกิจการในครอบครัว โดยเจ้าของเตาลงมือปั้นเองเผาเองเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นมาเป็นสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวเชียงใหม่สมัยนั้น ได้แก่ กระถางสำหรับแช่ข้าวนึ่ง (ข้าวเหนียว) หรือคนเมืองเหนือ เรียกว่า "หม้อข้าวพม่า" เป็นกระถางเคลือบขนาดย่อมๆ ใช้สำหรับแช่ข้าวเหนียวใส่น้ำค้างคืนเพื่อนึ่งในตอนเช้า เป็นสิ่งของที่ใช้กันทั่วไปในภาคเหนือ นอกจากนั้นก็ยังมีการทำพานใส่เมี่ยง (ใบชาหมักกินเป็นของว่าง) ถ้วยรองขาตู้ กระถางต้นไม้ เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อดินหยาบ โดยใช้ดินเหนียว (Ball Clay)ผสมกับดินทนไฟ (Fried Clay) ด้วยวิธีการผสมและเตรียมดินแบบพื้นบ้านขึ้นรูปเป็นชิ้นงานด้วยการใช้การปั้นบนแป้นหมุน โดยใช้แรงงานคนเป็นผู้หมุนแป้น ส่วนน้ำยาเคลือบนั้นเป็นน้ำเคลือบขี้เถ้าไม้ (Ash Glaze) ซึ่งได้มาจากขี้เถ้าไม้มะก่อตาหมู และขี้เถ้าไม้รกฟ้าผสมกับดินหน้านาเผาออกเป็นสีเขียวอ่อนแบบน้ำเคลือบเซลาดอน (Celadon) เตาที่ใช้เป็นเตามังกร ที่ใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง การเผาเตาต้องใช้ความชำนาญมากเพราะความร้อนภายในเตาจะไม่เท่ากันกล่าวคือ อุณหภูมิระหว่างบริเวณภายใน เตาด้านหน้า กลางเตา หลังเตา และส่วนที่ติดปล่องไฟจะมีความแตกต่างกันมาก จึงนิยมวางเครื่องปั้นดินเผาที่ต้องการเคลือบไว้ในบริเวณส่วนหน้าตลอดเข้าไปถึงตรงกลางของเตา เพราะเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงพอเหมาะต่อการเคลือบเซลาดอนส่วนบริเวณหลังหรือท้ายๆ เข้าไปในเตาจนถึงส่วนที่เป็นปล่องไฟอุณหภูมิจะต่ำกว่า จึงใช้วางเผาภาชนะที่ไม่เคลือบหรือเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแดง เช่น กระถางต้นไม้ต่างๆ การควบคุมอุณหภูมิในเตา ต้องใช้การสังเกตดูแสงไฟจากรูข้างเตาเผาเพื่อดูอุณหภูมิที่ต้องการ