กระเบื้องแสงรุ้งกลาสโมเสค
Pakarung - Think Ceramic Think Pakarung
ซิเบลโก้ มิเนอร์รัลส์ จัดหาแร่คุณภาพสำหรับอุุตสาหกรรมเซรามิคส์
Ferro
Keramat
MS Industrial Supplies
Ceramics R Us
บ้านทุ่งจี้

โครงการพระราชดำริ บ้านทุ่งจี้
ดร. คชินท์ สายอินทวงศ์

อาจกล่าวได้ว่าลำปางคือจังหวัดเซรามิกของประเทศไทย ทุกทั่วหัวระแหงเราจะพบโรงงานเซรามิกอยู่กลาดเกลื่อน แม้วันนี้จะมีล้มหายตายจากไปก็มากจากพิษวิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ โรงงานส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเมือง ดำเนินธุรกิจเพื่อให้อยู่รอด ทั้งการหาตลาด การผลิตเพื่อให้ต้นทุนต่ำ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอยู่เสมอ แต่มีโรงงานเซรามิกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่กลางป่าเขา ท่ามกลางบรรยากาศที่สดชื่น จุดประสงค์หลักของโรงงานเซรามิกแห่งนี้ไม่ได้มุ่งเน้นแต่ผลกำไรแต่เป็นการช่วยเหลือผู้คนในถิ่นนั้นให้มีรายได้ เพื่อจะได้ไม่ไปตัดไม้ทำลายป่าหรือไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โรงงานนี้คือโครงการพระราชดำริฯ บ้านทุ่งจี้ ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตเซรามิกที่สวยงามและมีคุณภาพอีกแห่งหนึ่งของเมืองลำปาง

โครงการพระราชดำริ บ้านทุ่งจี้

ประวัติความเป็นมาของโครงการพระราชดำริบ้านทุ่งจี้

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2539 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านใหม่พัฒนา อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง และได้มีราษฎรบ้านทุ่งจี้ ตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน กราบบังคมทูลเกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่รอยต่อของ อำเภอเมือง อำเภอเมืองปาน และอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และขอพระราชทานการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับราษฎร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์กับแม่ทัพภาคที่ 3 ( พล.ท.ถนอม วัชรพุทธ ) และผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ( นายสหัส พินทุเสนีย์ ) ให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นรอยต่อฯ 3 อำเภอดังกล่าวดังนั้น กองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับจังหวัดลำปาง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา โดยดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ การแก้ไขปัญหาระยะสั้นนั้นได้จัดตั้งจุดตรวจ , จุดสกัด , การลาดตระเวนป้องปราม , การเฝ้าตรวจตราดูแล เป็นผลให้การตัดไม้ในพื้นที่หยุดชะงักลงชั่วคราว สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้นได้มีการจัดตั้ง โครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อ อำเภอเมือง อำเภอเมืองปาน และอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกิดความต่อเนื่องเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานเงินให้ทางจังหวัดลำปาง จำนวน 500,000 บาท รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างโรงทอผ้าศิลปาชีพขึ้น ในพื้นที่อำเภอเมืองปาน จำนวน 5 แห่ง คือ

1. โรงทอผ้าบ้านทุ่งจี้ - หมู่ที่ 8 ตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
2. โรงทอผ้าบ้านไร่มูเซอร์ - หมู่ที่ 4 ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
3. โรงทอผ้าบ้านกล้วย - หมู่ที่ 2 ตำบลหัวเมือง อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
4. โรงทอผ้าบ้านศรีดอนมูล - หมู่ที่ 2 ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
5. โรงทอผ้าบ้านป่าคาสันติสุข - หมู่ที่ 1 ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2540 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยี่ยมเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของโครงการฯ เป็นครั้งแรก และมีพระราชดำริฯ กับผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางให้จัดตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผาขึ้น เพื่อผลิตของที่ระลึกประจำพื้นที่

วัตถุประสงค์หลักของโครงการ

1. เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่
2. เพื่อให้ทุกส่วนราชการ มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันแก้ไขปัญหา การทำลายทรัพยากรป่าไม้บรรลุผลเป็นรูปธรรม และให้มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
3. เพื่อเป็นการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการดำเนินงานโครงการศิลปาชีพ
4. เพื่อเป็นการส่งเสริมองค์กรมวลชนในพื้นที่ ให้เข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้

โครงการพระราชดำริ บ้านทุ่งจี้
บรรยากาศภายในโรงงาน

โครงการพระราชดำริ บ้านทุ่งจี้
สมาชิกกำลังนั่งเขียนลาย

โครงการพระราชดำริ บ้านทุ่งจี้
กำลังตกแต่งผลิตภัณฑ์

หน่วยงานรับผิดชอบ / หน่วยงานร่วมโครงการฯ

1. กองทัพภาคที่ 3 โดย มณฑลทหารบกที่ 32
2. กองศิลปาชีพ สำนักราชเลขาธิการ
3. จังหวัดลำปาง
4. สำนักเทคโนโลยี่ชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ
5. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 10 ลำปาง

ปัจจุบันในโครงการฯมีสมาชิกกลุ่มเครื่องปั้นดินเผารวม 53 คน กลุ่มแกะสลักไม้รวม 17 คน กลุ่มปลูกหม่อน - เลี้ยงไหมรวม 4 คน กลุ่มสมาชิก และราษฎรเลี้ยงผึ้งรวม 25 คน โดยมีพันโทกาจน์ กอรี เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ และมีอาจารย์เซรามิกสองคนคืออาจารย์ ธีรยุทธ ปังคำและอาจารย์บุญยงค์ เยาวขันธ์เป็นผู้ดูแลและให้ความรู้ในด้านการทำเซรามิกแก่สมาชิก ซึ่งอาจารย์ธีรยุทธหรืออาจารย์กบ จะดูแลเกี่ยวกับการขึ้นต้นแบบ การทำแบบพิมพ์ การเขียนลาย ส่วนอาจารย์บุญยงค์หรืออาจารย์ตุ๊ จะดูแลด้านการขึ้นรูปทั้งแป้นหมุน การหล่อแบบ การปั้นอิสระ การเคลือบสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแป้นหมุนอาจารย์ตุ๊จะชำนาญเป็นพิเศษจนได้รับรางวัลงานเครื่องปั้นดินเผาของทางจังหวัดลำปางมาแล้ว โดยมีทางสำนักเทคโนโลยี่ชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการได้เข้ามาให้ความรู้กับสมาชิกตั้งแรกเริ่มตั้งศูนย์ฯ ทั้งการออกแบบ การทำพิมพ์ การทำน้ำดินสำหรับงานหล่อ การปั้นแป้นหมุน การเขียนลวดลาย การปั้นดอกไม้ การเผาและการตกแต่ง ทำให้สมาชิกมีความชำนาญในการปฏิบัติมากขึ้น และเมื่อสมาชิกเริ่มมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นก็เริ่มให้การอบรมเกี่ยวกับระบบการทำงานต่างๆทั้ง TQM การลดความสูญเสียในการทำงาน 5ส. การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การควบคุมคุณภาพในขั้นตอนการผลิตต่างๆ นอกจากทางสำนักเทคโนโลยี่ชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการจะให้ความรู้ในด้านต่างๆแล้วก็ยังเป็นผู้สนับสนุนวัตถุดิบให้กับทางโครงการฯด้วยทั้งเนื้อดินสำเร็จ วัตถุดิบสำหรับสีเคลือบทั้งพวกแร่ ออกไซด์และสีเซรามิก รวมทั้งสีเขียนใต้เคลือบและบนเคลือบ เครื่องจักรสำหรับการผลิตต่างๆ นอกจากนี้ยังมีทางศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศร่วมกับทางสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาช่วยเหลือทั้งในด้านการออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบวัสดุหีบห่อ การควบคุมคุณภาพในกระบวนการ

พันโทกาจน์ หัวหน้าศูนย์ฯ อาจารย์ธีรยุทธกับอาจารย์บุญยงค์
พันโทกาจน์ หัวหน้าศูนย์ฯ อาจารย์ธีรยุทธกับอาจารย์บุญยงค์
บรรยากาศการอบรม สมาชิกชาวทุ่งจี้
บรรยากาศการอบรม สมาชิกชาวทุ่งจี้
เตาฟืนก็มีสำหรับงานขนาดใหญ่ ปูสีสวยจากทุ่งจี้
เตาฟืนก็มีสำหรับงานขนาดใหญ่ ปูสีสวยจากทุ่งจี้
งานปั้นแป้นหมุนสีสดใส งานปั้นแป้นหมุนเผาเตาฟืน
งานปั้นแป้นหมุนสีสดใส งานปั้นแป้นหมุนเผาเตาฟืน

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ทางทุ่งจี้ได้ทำการผลิตอยู่นั้นก็มีทั้งงานหล่อแบบรูปสัตว์ต่างๆทั้งช้าง ม้า วัว ควาย และสัตว์ที่ขายดีมากๆของทุ่งจี้คือปูตัวขนาดใหญ่สีสันสดใสที่เป็นที่ชื่นชอบของคนที่มาซื้อ สำหรับงานแป้นหมุนนั้นก็มีทั้งการใช้ดินแดงพื้นบ้านปั้นแล้วเผาเตาฟืนเคลือบด้วยเคลือบออกไซด์และเคลือบขี้เถ้า งานแป้นหมุนแบบใช้ดินสโตนแวร์เนื้อขาวที่เอามาทำสีสวยๆได้รวมทั้งนำไปเขียนลวดลายที่สวยงามได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสมาชิกที่บ้านทุ่งจี้นี้มีความตั้งใจในการเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆดีมากไม่ว่าจะเป็นงานที่ทางอาจารย์ทั้งสองมอบหมาย งานจากอาจารย์ของทางกรมวิทย์ งานจากอาจารย์ของทางวว. สมาชิกทุกคนก็พร้อมที่จะร่วมมือกันทำเป็นอย่างดีเป็นที่ชื่นใจแก่อาจารย์ที่มาให้ความรู้ และด้วยความที่บ้านทุ่งจี้ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีโดยเป็นทางผ่านสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปยังอุทยานแห่งชาติน้ำตกแจ้ซ้อน ทำให้ตลอดปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของโครงการฯเป็นอย่างมากดังนั้นถ้ามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาด ต้นทุนการผลิตต่ำ และมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการฯที่ดี ก็จะทำให้โครงการพระราชดำริแห่งนี้เป็นที่รู้จักของคนไทยและต่างชาติได้ไม่ยาก ซึ่งปัจจุบันนี้ราษฎรก็มีสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก มีงานมีรายได้เสริมให้กับครอบครัว กล่าวคือก่อนจัดตั้งโครงการฯ ราษฎรมีรายได้เฉลี่ยครอบครัว 10,000 – 15,000 บาท/ปี ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยครอบครัวละ 30,000 – 35,000 บาท/ปี อีกทั้งยังสามารถช่วยรักษาผืนป่าไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตวป่าได้อย่างยั่งยืน จากเดิมในพื้นที่มีการลักลอบตัดไม้ แผ้วถางทำไร่เลื่อนลอย ทำให้พื้นที่กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม สัตว์ป่าถูกล่าจำนวนมาก และมีปริมาณลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสภาพป่ามีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ขึ้น จำนวนต้นไม้มากขึ้น สัตว์ป่าเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำฝน และน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้น สามารถกักเก็บน้ำใช้อุปโภค - บริโภคได้ตลอดทั้งปี

ถ้ามีเวลาอยากชวนทุกท่านขึ้นไปเที่ยวโรงงานเซรามิกแห่งนี้กันนะครับ