กระเบื้องแสงรุ้งกลาสโมเสค
Pakarung - Think Ceramic Think Pakarung
ซิเบลโก้ มิเนอร์รัลส์ จัดหาแร่คุณภาพสำหรับอุุตสาหกรรมเซรามิคส์
Ferro
Keramat
MS Industrial Supplies
Ceramics R Us
การเลือกใช้ดิน

การตรวจสอบคุณภาพของดินสำหรับผลิตภัณฑ์เซรามิกชนิดต่างๆ
ดร. คชินท์ สายอินทวงศ์

ดินเป็นวัตถุดิบที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เซรามิกชนิดต่างๆ ซึ่งดินที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกนี้มีทั้งดินดำ ดินแดง และดินขาว ดังนั้นการเลือกใช้ดินแต่ละชนิดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน จำเป็นที่จะต้องรู้คุณสมบัติต่างๆของดินในแต่ละแหล่งเพื่อใช้ในการพิจารณาเลือกดินมาใช้งานให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ กระบวนการขึ้นรูป การเคลือบ และการเผาของแต่ละบริษัท

หัวข้อที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของดินในอุตสาหกรรมเซรามิกTalcum

ในการตรวจสอบดินทั้งที่เป็นดินขาว (Kaolin) และดินเหนียว (Ball clay) นั้น มีหัวข้อที่จะต้องตรวจเช็คมากมายขึ้นกับจุดประสงค์ที่จะนำดินนั้นไปใช้งานดังต่อไปนี้

1. % การหดตัว จะตรวจเช็คทั้งการหดตัวก่อนเผาและหลังเผา โดยนำดินที่จะทำการตรวจสอบมาขึ้นรูปให้เป็นชิ้นงาน อาจใช้วิธี Press, Extrude, เทแบบ หรือขึ้นรูปด้วยมือ ขึ้นกับกระบวนการผลิตของเรา โดยต้องควบคุม %น้ำในเนื้อดินให้ใกล้เคียงกันในดินที่จะนำมาทดสอบแต่ละชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหนียวและความละเอียดของดินและวิธีการขึ้นรูปด้วย ถ้าเป็นการขึ้นรูปโดยการ Press สามารถใช้ความชื้นได้ใกล้เคียงกันคือประมาณ 5-6% ทั้งดินขาว ดินแดงและดินดำ (Ball clay) แต่ถ้าเป็นการขึ้นรูปโดยการ Extrude นั้น %น้ำที่ใช้จะไม่เท่ากันระหว่างดินที่มีความเหนียวน้อยกับดินที่มีความเหนียวมาก สำหรับดินขาวที่มีความละเอียดไม่มากนักสามารถใช้น้ำในการขึ้นรูปได้ประมาณ 16-20% แต่ถ้าเป็นดินเหนียว หรือดินแดงที่มีความละเอียดสูงมากจะต้องเติมน้ำลงไปมากกว่าเพื่อใช้ในการผสมและนวดดินได้โดยใช้น้ำอยู่ในช่วง 25-30% ดินบางแหล่งที่มีมอนโมลิทโลไนท์ (Montmorillonite) สูงอาจต้องใช้น้ำในการผสมมากกว่า 40% สำหรับการขึ้นรูปโดยการหล่อแบบจะต้องนำดินมาทำให้เป็นน้ำสลิปก่อน ซึ่ง%น้ำที่ใช้นั้นจะขึ้นอยู่กับอัตราการหล่อแบบ, ความหนืด, อัตราการใช้สารช่วยกระจายลอยตัว (Deflocculant demand)

    การคำนวณ%การหดตัว
    size x1 = ชิ้นงานดิบ Green sample
    size x2 = ชิ้นงานที่ผ่านการอบแห้งแล้ว Dry sample
    size x3 = ชิ้นงานที่ผ่านการเผาแล้ว Fire sample
    size x4 = Cavity mould





สำหรับกระบวนการขึ้นรูปแบบ Press และ Extrude นั้น จำเป็นต้องวัดค่า %การขยายตัวหลังขึ้นรูปโดยเปรียบเทียบขนาดชิ้นงานดิบกับ Cavity mould หรือขนาดของหัว Die ในกรณีที่ขึ้นรูปด้วยวิธีการรีด ถ้าพบว่าดินที่นำมาทดสอบมีค่าการขยายตัวหลังขึ้นรูปสูงก็จะมีโอกาสเกิดรอยร้าวเล็กๆที่ชิ้นงานหลังอบแห้งได้


ส่วนการหดตัวหลังอบแห้งถ้ามีค่าสูงเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาแตกร้าวในขณะอบแห้งได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนของแบบ หรือมีความหนาของชิ้นงานที่แตกต่างกันในแต่ละตำแหน่ง หรือกรณีของสุขภัณฑ์ที่ในชิ้นงานมีทั้งบริเวณที่เป็นการหล่อตัน (Solid casting) และบริเวณที่เป็นการหล่อกลวง (Hollow casting) ทำให้มีความหนาบางแตกต่างกัน ในกรณีที่มีการหดตัวหลังอบสูงก็จะเกิดการหดตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละตำแหน่งจนเกิดการดึงตัวกันจนเกิดปัญหารอยร้าวได้



2. ความแข็งแรงของดิน จะตรวจสอบตั้งแต่ชิ้นงานดิบ, ชิ้นงานหลังอบ, ชิ้นงานหลังเผา โดยนำดินมาขึ้นรูปตามกระบวนการผลิตที่เราต้องการจะใช้ ในกรณีของค่าความแข็งแรงของชิ้นงานดิบ (green strength) จะนำมาหาโดยใช้เครื่องทดสอบความแข็งแรง (Modulus of rupture-MOR) ส่วนค่าความแข็งแรงหลังอบแห้ง (dry strength) จะนำชิ้นงานดินไปเข้าเตาอบก่อน แล้วจึงนำมาหาค่า MOR ค่าความแข็งแรงหลังเผา (fire strength) จะนำชิ้นงานที่อบแล้วไปเผาที่อุณหภูมิที่เราใช้งานจริง แล้วจึงนำมาเข้าเครื่องทดสอบความแข็งแรง

W = load ที่อ่านได้จาก dial gauge
L = span length
b = ความกว้างของชิ้นงาน
d = ความหนาของชิ้นงาน
(ในกรณีที่เป็นตัวอย่างแท่งกลม)
D = เส้นผ่านศูนย์กลางของแท่งกลม
Unit = kg/cm2

ดินที่มีความแข็งแรงของชิ้นงานดิบและความแข็งแรงหลังอบสูงแสดงว่ามีค่าความเหนียว (Plasticity) ที่ดี สามารถใช้งานในการขึ้นรูปที่ต้องการความเหนียว (Plastic forming) เช่นการขึ้นรูปแบบจิ้กเกอร์สำหรับถ้วยชาม, ลูกถ้วยไฟฟ้า, จ๊อ การขึ้นรูปโดยการรีด (Extrude) สำหรับกระเบื้องหลังคาเซรามิก, อิฐก่อสร้าง, อิฐทนไฟ, ท่อระบายน้ำเซรามิก หรือการขึ้นรูปด้วยมือสำหรับงานปั้นมือต่างๆทั้งโอ่ง, ไห, กระถาง และตุ๊กตาตกแต่งสวนในหลากหลายรูปแบบ

ดินที่มีความเหนียวสูงนั้นส่วนใหญ่จะเป็นดินดำหรือดินแดง ซึ่งดินเหล่านี้จะมีค่าความละเอียดสูงและมีสารอินทรีย์ในดินปริมาณมากจึงทำให้มีความเหนียวที่ดีและมีความแข็งแรงหลังการขึ้นรูปสูง

สำหรับความแข็งแรงหลังเผาของดินนั้นขึ้นกับปัจจัยหลายประการได้แก่องค์ประกอบทางเคมีของดินในแต่ละแหล่ง ซึ่งดินที่มี %อัลคาไลออกไซด์ เช่น โซเดียมออกไซด์และโพแทสเซียมออกไซด์สูงนั้นก็จะมีค่าความแข็งแรงหลังเผาสูงด้วย นอกจากนี้ความละเอียดของอนุภาคก็มีส่วนที่ส่งผลให้ค่าความแข็งแรงหลังเผาสูงขึ้นด้วย

3. % การดูดซึมน้ำ (water absorption) จะนำดินมาขึ้นรูปแล้วเผาที่อุณหภูมิที่ใช้งานแล้วนำมาชั่งน้ำหนัก แล้วจึงนำไปต้มในน้ำเดือด 5 ชั่วโมง และทิ้งไว้ในน้ำอีก 24 hr แล้วจึงนำออกมาชั่งน้ำหนักหลังต้ม และหาค่า % การดูดซึมน้ำจากสูตร

    % W/A = (น้ำหนักหลังต้ม-น้ำหนักก่อนต้ม) x 100 / น้ำหนักก่อนต้ม
โดยทั่วไปดินขาวจะมีค่า%การดูดซึมน้ำสูงกว่าดินดำและดินแดงมาก เนื่องจากมี %SiO2 สูง และมีขนาดของอนุภาคที่หยาบกว่าดินดำ สำหรับดินแดงนั้นจะมี%การดูดซึมน้ำที่ต่ำกว่าดินอื่นๆมากเนื่องจากมี %Fe2O3 และ %Alkali สูง รวมทั้งมีความละเอียดของอนุภาคสูงด้วย

4. ค่าสัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจากความร้อน (Thermal expansion coefficient) จะใช้เครื่อง dilatometer เป็นตัวตรวจเช็ค โดยผลจะแสดงออกมาเป็นกราฟ และดูค่าความชันของกราฟเพื่อใช้ในการคำนวณค่า (รายละเอียดของค่า COE อ่านได้จากบทความเรื่องสัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจากความร้อน คุณสมบัติของวัสดุที่ไม่ควรละเลย)

5. % กากที่ค้างตะแกรง จะนำดินที่ตรวจสอบมากวนกับน้ำแล้วร่อนผ่านตะแกรงเบอร์ 325 เมช และดูปริมาณที่ค้างอยู่บนตะแกรง คำนวณออกมาเป็น % กาก (Residue) ซึ่งในดินแหล่งที่มีค่ากากค้างตะแกรงสูงแสดงว่าดินแหล่งนั้นมีทรายหรือเนื้อหินปนอยู่ ไม่ได้มีเพียงเนื้อดินเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะมีผลต่อการนำดินไปใช้ในกระบวนการผลิตที่มีการเตรียมดินแบบแห้ง แบบกึ่งเปียก และการเตรียมน้ำดินที่ใช้วิธีการตีดินในถังตีดินแบบความเร็วสูง แต่ถ้าเป็นการเตรียมดินแบบเปียกโดยการนำดินไปบดให้เป็นน้ำสลิปในหม้อบดก็จะไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับกากที่ค้างตะแกรง โดยปกติในดินขาวจะมีกากค้างตะแกรงสูงกว่าในดินดำและดินแดงเนื่องจากลักษณะการเกิดของดินที่เป็นแหล่งปฐมภูมิ แต่ในดินแดงบางแหล่งก็จะพบว่ามีทรายปนอยู่ในปริมาณสูงจนทำให้%กากค้างตะแกรงมีค่าสูงด้วย เช่นดินแดงสิงห์บุรีที่มี%กากค้างตะแกรงมากกว่า 10% บนตะแกรงขนาด 325 เมช

6. การหาขนาดของอนุภาคและการกระจายตัวของอนุภาค จะใช้วิธีวัดโดยไฮโดรมิเตอร์ หรือใช้เครื่อง Particle size distribution โดยใช้ laser เป็นตัวนับจำนวนอนุภาค และสามารถ plot ออกมาเป็นกราฟได้ โดยค่าที่อ่านได้จะดูที่ค่าเส้นผ่านศูนย์กลางของอนุภาคที่ 90% และที่ 10% ว่ามีขนาดอนุภาคอยู่ที่เท่าใด ซึ่งนอกเหนือที่จะดูค่าขนาดของอนุภาคของดินแล้วยังสามารถดูค่าพื้นที่ผิวของดินชนิดนั้นๆได้ด้วยในกรณีที่เราต้องการนำไปใช้เกี่ยวกับคุณสมบัติด้านการดูดซับและการเร่งการเกิดปฏิกิริยา

ค่าความละเอียดของอนุภาคดินนั้นจะบอกถึงคุณสมบัติด้านความเหนียว, ความแข็งแรงของชิ้นงานดิบและชิ้นงานหลังเผา รวมทั้งยังบอกถึงคุณสมบัติด้านการไหลตัวของน้ำดินและอัตราการหล่อแบบของดินด้วย


รูปภาพแสดงเครื่องหาค่าการกระจายตัวของอนุภาค (Particle size distribution)

7. % ความชื้น จะใช้ตรวจสอบดินที่รับเข้ามาเพื่อการคำนวณราคาเพื่อชดเชยปริมาณน้ำที่มีอยู่ในดิน lot นั้น ๆ และตรวจสอบเพื่อชดเชยปริมาณน้ำเวลาที่เราต้องการชั่งดินดังกล่าว เพื่อนำไปใช้งาน โดยนำตัวอย่างดิน (ควรสุ่มจากหลาย ๆ จุดของกองดิน) มาชั่งน้ำหนักก่อนอบ แล้วนำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 150 °C 2 ชั่วโมง แล้วนำออกมาชั่งน้ำหนักหลังอบ และนำไปเข้าสูตร

    % ความชื้น = (น้ำหนักก่อนอบ-น้ำหนักหลังอบ) x 100 / น้ำหนักก่อนอบ
8. อัตราการหล่อ (casting rate) จะใช้สำหรับดินที่ต้องการนำไปหล่อแบบเพื่อดูอัตราของความหนาของชิ้นงานเมื่อเวลาผ่านไป โดยจะนำดินที่ต้องการตรวจสอบมาทำให้เป็นน้ำดิน (slip) และเทลงในแบบ plaster จับเวลา 10-20 นาที แล้วเทน้ำดินที่เหลือออก เมื่อสามารถแกะแบบได้ให้ทำการแกะแบบและวัดความหนาของชิ้นงานว่าที่ 10 นาที จะได้ความหนาเท่าใด ถ้ามีความหนามากแสดงว่ามีอัตราการหล่อแบบที่ดี

ในปัจจุบันในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งจะหาอัตราการหล่อแบบโดยใช้วิธี Baroid test โดยการนำน้ำดินทีต้องการทดสอบมาใส่ในทรงกระบอกแล้วปิดฝาให้แน่นแล้วใช้แรงดันอัดน้ำดินหลังจากได้เวลาตามที่กำหนดไว้แล้วก็ทำการเทน้ำดินที่เหลือออก และแกะแบบทรงกระบอกแล้วนำดินแผ่นที่อยู่ภายในทรงกระบอกมาทำการวัดค่าความหนา ซึ่งวิธีนี้จะสามารถหาอัตราการหล่อแบบได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่เป็นตัวแทนที่แท้จริงเมื่อเทียบกับการหล่อในแบบปลาสเตอร์ที่แท้จริง


รูปภาพการหาอัตราการหล่อแบบโดยใช้เครื่อง Baroid

9. สีหลังเผา จะนำดินตัวอย่างมาขึ้นรูปและทำการเผาในอุณหภูมิและบรรยากาศที่ใช้งาน แล้วจึงมาเปรียบเทียบสีหลังเผากับชิ้นงาน STD. หรืออาจใช้เครื่องวัดสี ทำการวัดสีเปรียบเทียบกับ STD ถ้าต้องการควบคุมเรื่องสีของเนื้อดิน เช่น ผลิตภัณฑ์ porcelain, bone china, กระเบื้อง porcelain (granite tile) ซึ่งสีของดินจะเปลี่ยนแปลงไปนั้นขึ้นอยู่กับค่า %Fe2O3 และ %TiO2 ในเนื้อดิน



10. ค่าความเหนียว (Plasticity) ค่าความเหนียวของดินนั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการเลือกใช้ดินสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆและให้เหมาะสมกับวิธีการขึ้นรูปของโรงงาน โดยความเป็นจริงแล้วเรามักต้องการดินที่มีค่าความเหนียวมากเพื่อที่จะขึ้นรูปได้ดี ไม่มีปัญหาแตกเสียหายขณะเคลื่อนย้าย แต่ดินที่มีความเหนียวสูงก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน ในกรณีการเตรียมดินแบบกึ่งเปียก (Semiwet process) ถ้าใช้ดินที่มีความเหนียวมากมักจะมีปัญหาเวลาผสมในเครื่อง Mixer, เครื่อง Screen feeder ทั้งปัญหาความเหนียวที่จะติดกับตัวเครื่อง และการผสมกับวัตถุดิบตัวอื่นๆจะเข้ากันได้ยาก ในกรณีทำดินให้เป็นสลิปเพื่อนำไปสเปรย์เป็นผงดิน หรือนำไปขึ้นรูปด้วยการเทแบบ ดินที่มีความเหนียวมากนั้นจะมีขนาดอนุภาคที่เล็กมาก และประกอบด้วยแร่มอนต์โมลิทโลไนท์สูง จึงทำให้น้ำดินมีความหนืดสูง ต้องใช้ปริมาณสารช่วยกระจายลอยตัวมาก และน้ำดินจะมีความเป็นทิกโซโทรปิก (Thixotropic) สูง

วิธีการอย่างง่ายที่จะหาค่าความเหนียวของดินคือการนำดินมานวดแล้วปั้นให้เป็นเส้นเล็กๆแล้วคดเพื่อดูความสามารถในการคงตัวของดิน ถ้าขาดง่ายแสดงว่ามีความเหนียวต่ำ แต่ถ้าสามารถคดเป็นวงได้แสดงว่ามีความเหนียวสูง ซึ่งการวัดแบบนี้จะใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจค่อนข้างสูงและมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายประการทั้งปริมาณน้ำที่ใช้ แรงในการนวดดิน ขนาดเส้นรอบวงที่ใช้คด

ปริมาณน้ำที่เติมลงไปในขณะการนวดดินก็พอจะบอกค่าความเหนียวของดินได้ ดินที่มีค่าความเหนียวต่ำจะใช้ปริมาณน้ำน้อยในการนวดเพื่อสามารถขึ้นรูปได้ ในขณะที่ดินที่มีความเหนียวสูงจะต้องเติมน้ำในปริมาณมากในการนวดเพื่อการขึ้นรูป

วิธีการหาค่าความเหนียวของดินอีกวิธีหนึ่งเรียกว่าการหา slaking time โดยการนำดินมาเป็นลูกเต๋าและแช่ไว้ในน้ำ จับเวลาจนกระทั่งเหลี่ยมของดินลบมุมออกไปจนหมด แต่ถ้าดินมีความเหนียวมากจะใช้เวลาในการทดสอบนานบางครั้งหลายวัน ดังนั้นการทดสอบอย่างรวดเร็วจะใช้วิธีการปั้นเป็นลูกเต๋าเช่นกันแต่นำไปอบแห้ง แล้วจึงใส่ลงในน้ำ จับเวลาจนกระทั่งลูกเต๋าเริ่มสลายตัว ซึ่งจะใช้เวลาไม่นานนัก แต่สามารถเปรียบเทียบค่าออกมาเป็นตัวเลขได้

    
รูปภาพแสดงการหา Slaking time

นอกจากนี้ค่าความแข็งแรงของชิ้นงานดิบและความแข็งแรงของชิ้นงานหลังอบแห้งก็จะเป็นตัวชี้บ่งถึงค่าความเหนียวของดินด้วยเช่นกัน ดินที่มีค่าความเหนียวที่ดีก็จะมีค่าความแข็งแรงดิบและความแข็งแรงหลังอบสูงตามไปด้วย


รูปภาพแสดงการทดสอบความเหนียวของดินโดยวิธี Atterberg’s limits

การทดสอบความเหนียวของดินอีกวิธีหนึ่งจะใช้หลักการของ Atterberg’s limits โดยดูค่าขีดจำกัดเหลว (Liquid limit) และขีดจำกัดพลาสติก (Plastic limit) ของดิน การหาค่าขีดจำกัดเหลวนั้นทำได้โดยนำดินที่ต้องการทดสอบมาผสมน้ำจนเข้ากันแล้วนำมาปาดลงในถ้วยเคาะ ใช้เครื่องมือมาตรฐานในการบากร่องของดินเหลว หลังจากนั้นจึงทำการหมุนเครื่องเคาะเพื่อให้เกิดแรงเฉือนขึ้นกับเนื้อดินจนครบ 25 ครั้ง ถ้าดินยังไม่เคลื่อนตัวมาแตะกันที่รอยบากก็ให้เติมน้ำเพิ่มแล้วทำการเคาะใหม่จนกระทั่งดินตรงรอยบากมาแตะกัน แล้วนำดินไปหาค่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในดิน สำหรับดินที่มีค่าขีดจำกัดเหลวสูงแสดงว่าเป็นดินที่มีความเหนียวสูง สำหรับรายละเอียดของหลักการ Atterberg’s limits นั้นจะนำมาเสนอในโอกาสถัดไปอย่างละเอียด

อีกวิธีการ จะใช้ดินที่เราต้องการจะตรวจสอบความเหนียวมาผสมกับน้ำจนได้ความชื้นพอเหมาะ (พอปั้นได้ไม่ติดมือ) แล้วปล่อยลงมาจากระดับความสูง 1 เมตร ลงบนพื้นที่มี scale อยู่ ถ้าดินมีการแผ่ตัวออกไปมากแสดงว่ามีความเหนียวน้อย ถ้าดินจับตัวเป็นก้อนได้ดีแสดงว่ามีความเหนียวมาก

11. สมบัติการไหลตัวของน้ำดิน (Rheology) จะใช้เครื่องมือที่สามารถตรวจเช็คคุณสมบัติของการไหลตัวได้ เช่น เครื่อง viscometer, brook field, gallen Kamp, over swing โดยจะเช็คค่าความหนืด (viscosity) และค่าทิกโซโทรปิก (Thixotropic) ของน้ำดิน ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใช้ในการเลือกดินสำหรับการทำน้ำสลิปเพื่อใช้ในการหล่อแบบ รวมทั้งการเลือกใช้ดินในการบดเป็นสลิปสำหรับการเตรียมผงดินโดยใช้ Spray dryer รูปภาพการหาค่า MBI


12. การหาพื้นที่ผิวของอนุภาคของดิน ซึ่งพื้นที่ผิวของดินจะส่งผลต่อคุณสมบัติด้านความเหนียว การกระจายลอยตัวของดิน โดยใช้วิธี Methylene blue index (MBI)

ค่า MBI คือค่าที่บอกว่าวัตถุดิบนั้นสามารถดูดซับ Methylene blue ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงความละเอียดของวัตถุดิบ หรือพื้นที่ผิวของวัตถุดิบนั้น

13. ปริมาณสารอินทรีย์ในดิน (Organic matter) ตรวจสอบได้โดยใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2)

    วิธีการทดสอบ
    1. นำดินแห้งมาชั่งน้ำหนัก และใส่ลงใน Flask
    2. เติมน้ำกลั่นลงไปเขย่าเบา ๆ
    3. เติม 5 ml 30% H2O2 อุ่น 50-60oC 30 นาที และเติม H2O2 ลงไปอีก
    4. อุ่นจนกระทั่งฟองอากาศหมดไป
    5. อบแห้งโดยใช้อุณหภูมิ 150oC
    6. ปล่อยให้เย็นใน desiccator แล้วชั่งน้ำหนักของดินอีกครั้ง และนำมาคำนวณ



    P = % สารอินทรีย์ในดิน
    w1 = น้ำหนักดินก่อนการเติม H2O2
    w2 = น้ำหนักดินหลังเติม H2O
นอกจากนี้ยังสามารถหาค่า LOI ( Loss of ignition) ของดินได้โดยใช้การหาน้ำหนักที่หายไป โดยเทียบจากน้ำหนักชิ้นงานที่อบแห้งแล้วกับน้ำหนักของชิ้นงานหลังเผา
    LOI = (wdry - wfire) x 100 / wdry

    wdry = น้ำหนักหลังอบแห้ง
    wfire = น้ำหนักหลังเผา

รูปภาพแสดง
ปัญหา Black core ในเนื้อดินแบบเผาเร็ว (Fast firing)
แต่ค่า LOI ที่ได้นี้ไม่ได้บอกถึงค่าปริมาณสารอินทรีย์ในดินทั้งหมดเหมือนที่หาด้วยวิธีตรวจสอบโดยใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) เนื่องจากค่า LOI นั้นจะเป็นการสูญเสียน้ำหนักของสารอินทรีย์ในดินรวมกับปริมาณน้ำในโครงสร้างดินที่สลายตัวไปเมื่ออุณภูมิสูง ซึ่งปริมาณน้ำในโครงสร้างของดินแต่ละชนิดหรือแต่ละแหล่งมีค่าไม่เท่ากัน

ปริมาณสารอินทรีย์ในดินจะบอกถึงค่าความเหนียวของดินได้ ดินที่มีปริมาณสารอินทรีย์สูงก็จะมีความเหนียวที่ดีในการขึ้นรูป แต่ข้อเสียสำหรับดินที่มีสารอินทรีย์สูงนั้นจะทำให้เกิดแกนดำ (Black coring) ขึ้นในเนื้อผลิตภัณฑ์ได้ถ้าผลิตภัณฑ์มีขนาดใหญ่ มีความหนา และโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีการเผาเร็ว (Fast firing) เช่นกระเบื้องปูพื้น, บุผนังและกระเบื้องหลังคา รวมทั้งในกรณีที่ดินนั้นมีตัวช่วยหลอมเช่นออกไซด์ของอัลคาไลและ Fe2O3 มากซึ่งดินเหล่านี้จะหลอมตัวเร็วกว่าช่วงที่มีการเผาไล่สารอินทรีย์ ซึ่งปัญหานี้ถ้ามีมากจะทำให้ความแข็งแรงหลังเผาของผลิตภัณฑ์ต่ำลง และจะส่งผลถึงผิวหน้าของเคลือบด้วยในกรณีที่เป็นการเผาแบบครั้งเดียว (Single firing) เพราะช่วงที่สารอินทรีย์ถูกเผาไล่ออกจากเนื้อดินนั้นจะเป็นช่วงเดียวกันกับที่เคลือบกำลังหลอมพอดี

14. การหาปริมาณออกไซด์ในดินแต่ละชนิดโดยใช้เครื่อง X-Ray Fluorescence

ตัวอย่าง%ออกไซด์ของดินในแหล่งต่างๆ
SiO2 Al2O3 Na2O K2O MgO CaO TiO2 Fe2O3 LOI
ดินขาวระนอง 325# 45.03 38.27 0.06 0.76 0.08 0.12 0.05 0.84 13.59
ดินแดงสิงห์บุรี 66.33 19.15 0.61 1.23 0.34 0.58 0.98 3.55 7.23
ดินแดงราชบุรี 64.11 19.60 0.1 1.7 0.44 0.53 1.12 4.88 7.35
ดินขาวลำปาง 60.1 27.2 0.20 5.80 0.20 0.18 0.09 0.82 10.55
ดินขาวปราจีน 48.75 34.47 0.45 2.55 0.30 0.11 0.05 0.69 10.77
ดินแม่ทานเทา 65.30 20.3 0.55 2.05 0.3 0.3 0.55 1.25 10.50


รูปภาพแสดงการทดสอบการ Warpage ของชิ้นงาน
15. ค่าการบิดเบี้ยวของเนื้อดิน สามารถวัดได้โดยการนำดินมาขึ้นรูปตามกระบวนการที่เราต้องการทั้งการอัดแบบ, การหล่อแบบและการรีด แล้วนำไปอบแห้งและทำการเผาโดยวางไว้บน Support ที่อุณหภูมิที่ต้องการใช้งาน และดูค่าความโค้ง (Warpage) ของชิ้นงานหลังเผา ซึ่งถ้าชิ้นงานมีความโค้งมากแสดงว่าความสามารถในการรับน้ำหนักที่อุณหภูมิสูงจะมีค่าต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมากหรือชิ้นงานใหญ่จะเกิดการบิดเบี้ยวขึ้นได้

จะเห็นได้ว่าการทดสอบดินแต่ละชนิดนั้นมีหัวข้อในการทดสอบหลายอย่าง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สุดในการเลือกใช้ดินสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ในแต่ละชนิด สำหรับในฉบับหน้านั้นจะนำเสนอในเรื่องการเลือกใช้ดินให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของแต่ละโรงงาน