|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
| ดินสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ | |
|
การเลือกใช้ดินสำหรับผลิตภัณฑ์เซรามิกชนิดต่างๆ ดร. คชินท์ สายอินทวงศ์
ดินเป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับการทำเนื้อ Body ผลิตภัณฑ์เซรามิกชนิดต่างๆ รวมทั้งเติมลงในสีเคลือบเพื่อช่วยปรับปรุงคุณสมบัติต่างๆของน้ำเคลือบและสีเคลือบหลังเผา ดังนั้นการเลือกใช้ดินให้เหมาะสมกับชนิดของผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะสมกับกระบวนการขึ้นรูป กระบวนการเคลือบ กระบวนการตกแต่ง และกระบวนการเผา เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราควรต้องศึกษา ซึ่งดินที่จะกล่าวถึงนี้เป็นแร่ดินในกลุ่ม Kaolinite ซึ่งจะแบ่งเป็นดินขาว (Kaolin), ดินดำ (Ball clay), ดินแดง (Red ball clay) สำหรับแร่ดินในกลุ่มอื่นเช่น Monmorillonite group, Chlorite group, Illite group นั้นจะนำมากล่าวถึงในโอกาสต่อไป
ดินขาว
สำหรับดินขาวนั้นมีใช้กันทั่วไปในการทำเนื้อดินสำหรับผลิตภัณฑ์เซรามิกชนิดต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามผลิตภัณฑ์และกระบวนการขึ้นรูปดังต่อไปนี้
อุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิก
การขึ้นรูปกระเบื้องเซรามิกนั้นส่วนใหญ่แล้วจะใช้วิธีการขึ้นรูปแบบ Pressing โดยมีการเตรียมเนื้อดินแบบแห้งทั้งแบบที่เป็น Dry process และ แบบ Spray dryer โดยเนื้อดินที่นำมาขึ้นรูปนั้นจะมีลักษณะเป็นเม็ดกลมหรือเป็นผงแล้วนำมาอัดในแบบด้วยความดันที่สูงเพียงพอให้กระเบื้องดิบมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะทำการเคลือบสีและตกแต่งลวดลายและมีการเคลื่อนที่ไปจนกระทั่งเข้าเตาได้ นอกจากนี้ยังมีการผลิตกระเบื้องเซรามิกแบบใช้การรีดดินผ่านหัว Die ของเครื่อง Extrude ซึ่งกระบวนการผลิตแบบนี้ต้องการความเหนียวของเนื้อดินมากกว่าการขึ้นรูปแบบเพรส ดังนั้นการเลือกใช้ดินชนิดต่างๆรวมทั้งสัดส่วนของดินที่ใช้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
กระเบื้องเซรามิกนั้นสามารถแบ่งออกตามลักษณะการใช้งานได้เป็น กระเบื้องปูพื้น, กระเบื้องบุผนัง, กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องตกแต่ง ถ้าแบ่งตามชนิดของเนื้อดินก็จะแบ่งได้เป็นกระเบื้องเนื้อเทอราคอตตา, กระเบื้องเนื้อเออร์เทนแวร์, กระเบื้องเนื้อสโตนแวร์ และกระเบื้องเนื้อพอร์สเลน ซึ่งเนื้อดินในแต่ละเนื้อนั้นจะมีคุณสมบัติทางกายภาพทั้งค่าการดูดซึมน้ำและค่าความแข็งแรงหลังเผาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีวัตถุประสงค์ของการเติมดินขาวที่แตกต่างกันไป
1. สำหรับกระเบื้องบุผนังเนื้อเออร์เทนแวร์นั้นจะเติมดินขาวลงไปในเนื้อดินเพื่อเป็นแหล่งให้ Al2O3 และ SiO2 โดยสัดส่วนของปริมาณ SiO2 ในเนื้อดินนั้นจะเกิดปฏิกิริยากับ CaO เหมืองดินขาว ในหินปูนที่เติมลงไปในสูครเนื้อดินเพื่อให้เกิดโครงสร้างผลึกของวอลลาสโตไนท์ (CaSiO3) ที่จะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับเนื้อผลิตภัณฑ์หลังเผา นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยกระจายลอยตัว (dispersion) พวก hard material ต่าง ๆ ในระหว่างการบดเพื่อให้การบดมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
ปัจจุบันผู้ผลิตกระเบื้องบุผนังส่วนใหญ่มักใช้เนื้อดินที่มีสีออกขาวหรือขาวอมชมพู ซึ่งแตกต่างจากเมื่อหลายปีก่อนที่เนื้อดินของกระเบื้องบุผนังจะเป็นสีแดงเข้ม ดังนั้นดินขาวจึงมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในการผลิตกระเบื้องบุผนัง นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกอย่างที่เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของกระเบื้องบุผนังคือ %การหดตัวหลังเผาที่น้อยมากจนเรียกว่าเท่ากับศูนย์ ดังนั้นการเติมดินขาวลงไปจะช่วยลดการหดตัวของเนื้อดินได้ดีกว่าการใช้ดินดำหรือดินแดง
2. ในเนื้อดินของกระเบื้องปูพื้นมักจะใช้ดินแดงเป็นส่วนประกอบหลักเนื่องจากมีความเหนียวที่ดีทำให้ไม่มีปัญหาในการขึ้นรูป การเติมดินขาวลงไปบางส่วนเพื่อที่จะลด %การหดตัวหลังอบแห้งและการหดตัวหลังเผา เพื่อช่วยลดปัญหาร้าวหลังอบแห้งเนื่องจากดินขาวจะช่วยลด %Pressing expansion(Spring back) ของเนื้อดินหลังขึ้นรูปด้วยการอัดที่แรงดันสูง และยังช่วยลดปัญหากระเบื้องโก่งตัวและแอ่นตัวในรถเก็บกระเบื้องรอเผาหลังจากผ่านสายเคลือบมาแล้วในกรณีที่มีการใช้ดินแดงที่มีอนุภาคละเอียดและมีการดูดซึมน้ำเข้าไปในโครงสร้างมาก ซึ่งดินแดงเหล่านี้จะเป็นสาเหตุทำให้กระเบื้องที่รอเผาเกิดการแอ่นตัวหรือโก่งตัวได้
นอกจากนี้การเติมดินขาวลงไปบางส่วนในเนื้อดินแดงของกระเบื้องเนื้อสโตนแวร์จะช่วยลด%การหดตัวหลังเผาของกระเบื้องทำให้การควบคุมขนาดหลังเผาทำได้ดีขึ้นด้วย
บริษัทผู้ผลิตกระเบื้องส่วนใหญ่ได้ทำการหาแหล่งดินขาวที่มีราคาถูก โดยหาแหล่งที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ตั้งของโรงงานเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งแหล่งดินขาวในเมืองไทยที่สำคัญในการนำมาทำเนื้อดินนั้นจะอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ ลำปาง ซึ่งในแต่ละแหล่งนั้นก็มีค่า Chemical composition ที่แตกต่างกันไป รวมทั้ง Impurities ในดินด้วย ถึงแม้ว่าดินขาวจะเกิดจากแหล่งปฐมภูมิ (Primary deposit) เหมือนกัน แต่ในองค์ประกอบทางเคมีของดินแต่ละแหล่งก็ต่างกันไปด้วย รวมทั้งอายุของการย่อยสลายจากภูเขาหินแกรนิตที่แตกต่างกันซึ่งบางแหล่งนั้นเป็นดินอย่างสมบูรณ์แบบแล้วแต่บางแหล่งยังมีโครงสร้างที่ยึดจับกันค่อนข้างแข็งแรงอยู่ทำให้การบดย่อยต้องใช้พลังงานและเครื่องจักรสำหรับบดย่อยมากขึ้น การทำเหมืองดินขาวที่แตกต่างกันในแต่ละแหล่งก็ทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินขาวแตกต่างกันไปด้วย
3. สำหรับกระเบื้องแกรนิตนั้น ความขาวของเนื้อดินเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้ลดปริมาณการใช้ Body stain ลงได้รวมทั้งจะทำให้สีของกระเบื้องหลังเผาสวยงามขึ้น ดังนั้นการเลือกใช้ดินขาวสำหรับทำกระเบื้องแกรนิตนั้นจะต้องเลือกแหล่งที่มีปริมาณ Fe2O3 และ TiO2 ต่ำ และควรมีปริมาณของ Alkali oxide เช่น Na2O, K2O อยู่บ้างเพื่อช่วยในการหลอมตัว เนื่องจากกระเบื้องชนิดนี้ต้องการ %การดูดซึมน้ำที่ต่ำมากและค่าความแข็งแรงหลังเผาที่สูง ซึ่งโดยปกติก็จะมีการใช้ปริมาณเฟลดสปาร์ที่สูงอยู่แล้วแต่ถ้าในดินมีตัวช่วยหลอมอยู่บ้างก็จะช่วยให้คุณสมบัติของกระเบื้องดีขึ้น
กระเบื้องแกรนิตหรือกระเบื้องเนื้อพอร์ซเลนนั้นจะเผาที่อุณหภูมิสูงเพื่อให้มีความแข็งแรงสูงและ%การดูดซึมน้ำต่ำ การใช้ดินขาวในสูตรเนื้อดินจะช่วยลดปัญหา Size variation ในระหว่างการเผาของกระเบื้องแกรนิตลงได้
Hydrocyclone สำหรับล้างดินขาว
4. การเติมดินขาวลงไปในสีเคลือบนั้นจะเป็นตัวช่วยกระจายลอยตัวในสีเคลือบ โดยเฉพาะเคลือบที่ใช้ฟริต (frit) ปริมาณมาก หรือเคลือบที่มีความถ่วงจำเพาะที่สูง และยังช่วยให้การบดเคลือบใช้เวลาสั้นลงด้วย
ดินขาวที่ใช้ในเคลือบนั้นจะเป็นดินขาวที่ผ่านกระบวนการล้างและกำจัดสิ่งที่เป็นมลทินมาแล้ว เช่นรากไม้ ทราย หิน และมีขนาดอนุภาคที่เล็กเพียงพอต่อความต้องการของนักเซรามิก ดินขาวในประเทศแหล่งสำคัญที่ใช้ในเคลือบได้แก่ดินขาวระนองและดินขาวนราธิวาส ซึ่งดินขาวนราธิวาสนั้นจะมีความขาวที่ดีกว่าและมีขนาดอนุภาคที่ละเอียดกว่าดินขาวระนอง สำหรับดินจากต่างประเทศที่มีคุณสมบัติดีแต่ราคาแพงกว่ามากเช่นดินจากอังกฤษ นิวซีแลนด์ เหมาะสำหรับใช้ในเคลือบที่ต้องการผิวที่สวยงามปราศจากตำหนิเล็กๆน้อยๆ เช่นในเคลือบของผลิตภัณฑ์โบนไชน่า พอร์ซเลน กระเบื้องเซรามิกผิวมันที่ใช้ Bell ในการเคลือบ
5. เป็นตัวช่วยยึดเกาะสีเคลือบกับเนื้อ Body เนื่องจากมีความเหนียวอยู่พอสมควร จะช่วยให้สีเคลือบไม่หลุดกะเทาะง่ายในระหว่างการเคลื่อนตัวในสายการผลิต
อุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ
ในอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟนั้นจะมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอิฐทนไฟสำหรับก่อเตาเผาชนิดต่างๆ มีทั้งอิฐทนไฟชนิดซิลิกา, อลูมิน่า, โดโลไมท์, โครม-แมกนีเซีย, แมกนีเซีย-โครม ฯ ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในการเผาได้แก่ Kiln furniture ชนิดต่างๆเช่นคอร์เดียไรท์, มัลไลท์-คอร์เดียไรท์, ซิลิคอนคาร์ไบด์ ผลิตภัณฑ์สำหรับเป็นตัวช่วยประสานหรือใช้ฉาบหรือใช้หล่อเช่นซีเมนต์ทนไฟ มอร์ตาร์
การขึ้นรูปวัสดุทนไฟนั้นมีหลายวิธีทั้งการอัดแบบ (Pressing), การกระทุ้ง (Ramming), การหล่อแบบ (Castable), การรีด (Extrude) ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดรวมทั้งการขึ้นรูปแต่ละแบบนั้นก็จะมีการใช้ดินขาวซึ่งแตกต่างกันไป
1. ดินขาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟสำหรับทำอิฐทนไฟชนิดต่างๆนั้นจะเป็น Grog (calcine Kaolin) หรือดินที่ยังไม่ผ่านการเผาก็ได้ เพื่อเป็นตัวให้ความเหนียวและมีความทนไฟพอสมควร นอกจากนี้ถ้าอัตราส่วนของ SiO2 : Al2O3 เหมาะสม และใช้อุณหภูมิในการเผาเหมาะสม ก็จะได้ phase ของ mullite (3Al2O32SiO2) ซึ่งมีค่า Thermal shock resistance ที่ดี ซึ่งเหมาะสำหรับวัสดุทนไฟ มีความแข็งแรงที่อุณหภูมิสูง มีค่า C.O.E. ต่ำ
อิฐทนไฟชนิดอลูมิน่าและซิลิกาจะมีการใช้ดินขาวและดินทนไฟในปริมาณที่สูง โดยมีการเลือกใช้จากสัดส่วนของ Al2O3 และ SiO2 ในดิน ซึ่งดินขาวจะช่วยเพิ่มความเหนียวทำให้อิฐดิบหลังการขึ้นรูปด้วยการเพรสมีความแข็งแรงเพียงพอสำหรับการเคลื่อนย้ายและจัดเรียงเข้าเตาอบ หลังผ่านการอบแห้งแล้วก็จะมีความแข็งแรงเพียงพอสำหรับการเผา ซึ่งการเผาอิฐนั้นจะมีการเรียงซ้อนกันจนแน่นทำให้อิฐด้านล่างของรถเตามีน้ำหนักกดทับมาก เมื่ออยู่ในช่วงการเผาอิฐทนไฟจะเริ่มมีการหดตัวซึ่งถ้าเกิดการหดตัวมากก็จะทำให้เกิดรอยร้าวเล็กๆเกิดขึ้นที่ขอบของอิฐได้ ซึ่งเป็นตำหนิที่ทำให้ต้องทิ้งอิฐนั้นไป การใช้ดินขาวหรือดินทนไฟที่มีการหดตัวต่ำจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้
การใช้ดินขาวเป็นส่วนผสมสำหรับอิฐทนไฟที่ขึ้นรูปด้วยการรีดเช่นอิฐเบานั้น จะช่วยลด%การหดตัวหลังอบแห้งลงได้ซึ่งจะช่วยลดการแตกร้าวของผลิตภัณฑ์หลังเผาได้อย่างมาก และยังช่วยควบคุมขนาดหลังเผาได้ดีขึ้นทำให้ความสูญเสียของการตัดอิฐเบาหลังเผาจะน้อยลง
2. สำหรับการผลิต Kiln furniture ทั้งแผ่นรองเผา และจ๊อนั้น เนื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นคอร์เดียไรท์ หรือส่วนผสมระหว่างมัลไลท์และคอร์เดียไรท์นั้น จะมีส่วนประกอบของดินขาวเป็นหลัก เนื่องจากการทำให้เกิดเนื้อคอร์เดียไรท์นั้นจะเกิดจากการรวมตัวกันของดินขาว ดินดำ และทัลคัม โดยผ่านการเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า 1300 °C
Kiln furniture เนื้อคอร์เดียไรท์
อุตสาหกรรมลูกถ้วยไฟฟ้า
กระบวนการผลิตลูกถ้วยไฟฟ้านั้นจะเริ่มจากการบดเนื้อดินให้เป็นน้ำดินที่มีความละเอียดพอเหมาะแล้วนำไปผ่าน Filter press ให้ได้เป็นแผ่น Cake จากนั้นก็นำไปเข้าเครื่องนวดดิน (Pug mill) ให้เนื้อดินมีความสม่ำเสมอขึ้นแล้วจึงเข้าเครื่องรีดดินแบบดูดอากาศเพื่อใช้ในการขึ้นรูปแบบกลึง ซึ่งก็จะมีทั้งการกลึงแบบแนวตั้งและแบบแนวนอน นอกจากนี้ยังมีการขึ้นรูปโดยการเทแบบสำหรับชิ้นงานที่มีความซับซ้อนของรูปทรงและตัวแยกสายไฟ การขึ้นรูปแบบเพรส
ลูกถ้วยไฟฟ้าแบบ Post และ Line post นั้นจะมีปีกของลูกถ้วยที่บางกว่าแกนกลางมากดังนั้นการหดตัวของปีกจะมีมากกว่าแกนกลางมากจึงเป็นสาเหตุให้ลูกถ้วยเกิดปัญหาร้าวที่ปีกได้ง่าย การปรับสัดส่วนของดินขาวกับดินดำในสูตรเนื้อดินจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ได้ค่าความเหนียวที่ดีและมีการหดตัวหลังอบน้อยจึงจะช่วยให้การขึ้นรูปไม่มีปัญหาและการอบแห้งก็ลดปัญหาลงไปด้วย สำหรับดินขาวที่ใช้ควรเลือกให้มีขนาดอนุภาคไม่เล็กเกินไป มีปริมาณทรายปนมาน้อยมาก และที่สำคัญคือมีความสม่ำเสมอของคุณภาพที่ดี
อุตสาหกรรมถ้วยชาม
การขึ้นรูปถ้วยชามและของตกแต่งบนโต๊ะอาหารนั้นมีทั้งการขึ้นรูปแบบเทแบบ Autocup machine จิ้กเกอร์ โรลเลอร์ แรมเพรส ซึ่งการขึ้นรูปในแต่ละกระบวนการนั้นคุณสมบัติที่ต้องการของเนื้อดินจะไม่เหมือนกัน แต่โรงงานโดยส่วนใหญ่ในเมืองไทยยังมักใช้เนื้อดินสูตรเดียวกันเพียงแต่เปลี่ยนกระบวนการผลิตเนื้อดินเท่านั้น แล้วเมื่อมีปัญหาในการผลิตเกิดขึ้นก็จะไปแก้ปัญหาที่กระบวนการขึ้นรูป หรือไปปรับสูตรเคลือบ หรือแม้แต่ปรับเตาเพื่อแก้ปัญหา โดยไม่ได้มองปัญหาที่ต้นเหตุคือตัวเนื้อดินเลย การออกแบบสูตรเนื้อดินให้เหมาะสมกับกระบวนการขึ้นรูปแต่ละแบบนั้นเป็นเรื่องสำคัญ การขึ้นรูปด้วยการเทแบบนั้นอัตราการหล่อแบบเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้อัตราการผลิตเร็วขึ้น นอกจากนี้การศึกษาเรื่องการไหลตัวของน้ำดิน (Rheology) ทั้งเรื่อง Viscosity และ Thixotropy เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้การเทน้ำดินออกจากแบบและการถอดแบบดีขึ้น อัตราของเสียที่เกิดจากการเทแบบก็จะลดลง น้ำดินที่ใช้ในการเทแบบนั้นควรมีสัดส่วนของดินขาวที่มี Casting rate สูง Slip casting อยู่ในปริมาณมากพอ ซึ่งก็จะช่วยเรื่องการหดตัวหลังอบแห้งให้มีค่าน้อยลงด้วย
การขึ้นรูปแบบจิ้กเกอร์และโรลเลอร์นั้น ต้องการความเหนียวของเนื้อดินมากเพื่อให้การทรงตัวขณะถอดแบบดี ไม่เกิดการทรุดตัวและบิดเบี้ยวถ้าเป็นภาชนะที่มีรูปทรงลึก ดังนั้นปริมาณการใช้ดินขาวจะน้อยลงแต่จะใช้ดินดำ (Ball clay) มากขึ้น
สำหรับการขึ้นรูปโดยใช้ Ram press นั้นมักจะใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนของรูปแบบมากกว่าทรงกลมธรรมดาที่เครื่องโรลเลอร์จะทำได้ การแกะแบบจะต้องทำทันทีหลังขึ้นรูป ดังนั้นความแข็งแรงของชิ้นงานดิบเป็นเรื่องสำคัญ จึงมักใช้ดินดำในปริมาณมากในสูตรเนื้อดิน แต่สิ่งที่จะพบปัญหาตามมาคือชิ้นงานจะมีการแตกร้าวมากหลังอบแห้งเนื่องจาก%การหดตัวหลังอบมีค่าสูง และเนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปโดย Ram press มักจะมีความซับซ้อนของรูปทรง มีเหลี่ยมมุมมากทำให้การหดตัวในแต่ละจุดมีความแตกต่างกันมากจึงเป็นสาเหตุของการแตกร้าวได้ ดังนั้นสัดส่วนการใช้ดินขาวกับดินดำในเนื้อดินสำหรับ Ram press นั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเพื่อลดของเสียที่จะเกิดขึ้นภายหลัง
อุตสาหกรรมสุขภัณฑ์
สุขภัณฑ์นั้นจะใช้วิธีการขึ้นรูปด้วยการหล่อแบบ ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งกระบวนการหล่อแบบดั้งเดิมคือใช้แบบปลาสเตอร์เป็นแม่พิมพ์และอาศัยการดูดน้ำของแบบปลาสเตอร์ร่วมกับอัตราการหล่อแบบ (Casting rate) ที่ดีของน้ำดินเพื่อให้สามารถแกะแบบได้ กระบวนการหล่อแบบใช้ความดันช่วยเร่งให้อัตราการแกะแบบเร็วขึ้นซึ่งมีทั้งแบบ Medium pressure casting และแบบ High pressure casting ที่ใช้แรงดันสูงมากทำให้วัสดุในการทำแบบจำเป็นต้องเปลี่ยนไปจากปลาสเตอร์เป็นเรซิน ดินขาวที่นำมาใช้กับกระบวนการขึ้นรูปแบบหล่อนั้นจำเป็นที่จะต้องมีอัตราการหล่อแบบที่สูงซึ่งจะสูงเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละโรงงาน สำหรับอัตราการหล่อแบบนั้นขึ้นอยู่กับค่าการกระจายของอนุภาคของดินในแต่ละแหล่ง ความสามารถในการควบคุมขนาดของอนุภาคของผู้ผลิตดินในแต่ละบริษัท ปริมาณเกลือ (Soluble salt) ที่เจือปนอยู่ในดิน ปริมาณทราย หินที่มีขนาดอนุภาคใหญ่ และปริมาณของสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในดิน
จุดประสงค์ในการเติมดินขาวลงไปในเนื้อดินสำหรับสุขภัณฑ์ก็เป็นเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อื่นๆคือต้องการปริมาณของ Al2O3 และ SiO2 และช่วยเพิ่มอัตราการหล่อแบบให้กับผลิตภัณฑ์รวมทั้งลด%การหดตัวหลังอบแห้ง ซึ่งจะช่วยลดอัตราการร้าวของชิ้นงานหลังอบแห้งและหลังเผาได้ ซึ่งการผลิตสุขภัณฑ์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระวังช่วงการอบแห้งเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชิ้นงานขนาดใหญ่ มีเหลี่ยมมุมค่อนข้างมาก มีจุดที่เป็นรอยต่อระหว่างการหล่อตัน (Solid casting) กับการหล่อแบบกลวง (Hollow casting or drain casting) ซึ่งจะมีการหดตัวที่แตกต่างกัน มีจุดที่เป็นรอยต่อของน้ำดินในขณะทำการหยอดน้ำดินลงไปในแบบ (Slip line) ที่จะเป็นจุดที่ทำให้เกิดรอยร้าวได้ง่าย รวมทั้งรอยประกบของชิ้นงานดิบหลายส่วนที่มาประกอบกันเข้าเป็นสุขภัณฑ์ เนื่องจากเป็นเรื่องยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะออกแบบให้แม่พิมพ์ที่สามารถหล่อออกมาเป็นสุขภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องมีการประกบ
การใช้งานดินขาวในอุตสาหกรรมอื่น
ในอุตสาหกรรมกระดาษจะใช้ดินขาวเป็นตัว Filler และตัว coating แต่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการล้างดินเพื่อคัดขนาดและทำการขัดสีดินให้มีความขาวมากขึ้นก่อนที่จะนำมาใช้งาน ซึ่งในโอกาสต่อไปจะนำเสนอเรื่องการตกแต่งดินขาวสำหรับอุตสาหกรรมกระดาษโดยเฉพาะ
เป็นตัว filler ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์และ rubber เพื่อให้โครงสร้างของยางมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นดีขึ้น
เป็นตัว filler ในอุตสาหกรรมน้ำมันชักเงา (vanish)
ใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมยา (ยาเม็ด)
ใช้เป็นส่วนประกอบของพวก cosmetic และยาสีฟัน
ใช้เป็นส่วนประกอบของยาฆ่าแมลง
ในอุตสาหกรรมโลหะเคลือบ (Enamel) ใช้ดินขาวเป็นตัวช่วยกระจายลอยตัวของเคลือบ enamel
|
|
|
|
|
|
|