สีเคลือบที่มีความหนืดเปลี่ยนไปจนกลายเป็นวุ้นนั้นเรียกตามภาษาของชาวเซรามิกว่า เกิดThixotropy ที่เรามักเรียกกันสั้นๆว่า Thixo สาเหตุของการเกิดนั้นมีได้หลายสาเหตุคือ
1. เกิดจากในสูตรเคลือบมีปริมาณดินมากเกินไปซึ่งดินที่เราใช้มักเป็นดินขาวแต่ก็ยังทำให้เกิด Thixo ได้อยู่ ทางแก้ไขจึงควรลดปริมาณดินในสูตรลงบ้างทางที่ดีไม่ควรเกิน 15%
2. แหล่งของดินขาวที่นำมาใช้บางครั้งเราเลือกใช้ดินขาวราคาถูกเช่นดินระนอง ดินนราธิวาส แต่ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องความหนืดของน้ำเคลือบดังนั้นจึงควรลองเลือกแหล่งดินขาวให้เหมาะสมกับสูตรเคลือบของเราอย่ไปคิดแต่จะใช้ของถูกอย่างเดียวแต่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ ซึ่งสุดท้ายอาจจะไม่คุ้มกันนะครับ
3. น้ำที่นำมาใช้ทำสีเคลือบต้องดูเรื่องความกระด้างของน้ำด้วย น้ำประปาเหมือนกันแต่มีความกระด้างต่างกันก็จะทำให้เกิด Thixo ด้วยเช่นกัน โรงงานบางที่ยังใช้น้ำบาดาลอยู่เลย ซึ่งน้ำบาดาลบ้านเราบางแหล่งมีความกระด้างอย่างมากทำเคลือบอย่างไรก็ไหลตัวไม่ดีต้องมีชุด Softener เพื่อปรับค่าความกระด้างของน้ำก่อนครับ
4. เกิดจากวัตถุดิบบางตัวที่ทำให้เกิด Thixo ได้เนื่องจากโครงสร้างของมันเป็นแบบ T-O-T ซึ่งจะมีน้ำเข้าไปแทรกอยู่ระหว่างชั้นของผลึกได้ทำให้เกิดการบวมน้ำ (Swelling) ได้ง่าย ดังนั้นถ้าต้องการใช้วัตถุดิบเหล่านี้ควรใช้แบบที่ Calcine แล้วจะดีกว่า เช่น Talcum, ZnO
5. ปริมาณ Defloculant ไม่เพียงพอในสูตรหรือชนิดของ Defloc ไม่เหมาะสมกับสูตรก็จะทำให้เกิด Thixo ได้ ดังนั้นจึงควรทำ Deflocculation curve กับสูตรของเราดูก่อนแล้วเลือกจุดที่เหมาะสมในการเติมปริมาณ defloc รวมทั้งหา deflocตัวใหม่ๆมาลองดู ราคาอาจแพงกว่าแต่ใช้ปริมาณน้อยลงและลดปัญหาได้ อาจจะคุ้มกว่าก็ได้นะครับ
6. ตัว Binder ที่ใช้ในสูตรเช่น CMC, Bentonite อาจใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจนทำให้เกิด Thixoได้ ถ้าเราต้องการใส่ CMC เยอะก็จะต้องเติมตัวกันบูด (Preservative) ลงไปเพื่อช่วยรักษาสภาพของ CMC เอาไว้จากแบคทีเรียที่อยู่ในอากาศและน้ำ
7. การปรับ Density ของน้ำเคลือบไม่เหมาะสมก็จะทำให้เกิด Thixo ได้ แต่ถ้าคุณใช้การจุ่มเคลือบ density ที่ใช้จะไม่สูงนัก ก็จะลดปัญหาเรื่อง Thixoไปได้ |