เซรามิกสีทองถ้าเป็นสมัยก่อนก็คงแนะนำให้ใช้น้ำทองที่เหมือนทองที่ใช้เขียนเบญจรงค์ เพราะให้สีทองที่สุกปลั่งสวยงามแต่ราคาแพงมากและต้องเผาซ้ำที่อุณหภูมิต่ำ ถ้าใช้เคลือบสูตรสีทองก็มีเป็น Gold luster แต่ต้องใช้ตะกั่วสดซึ่งเป็นพิษและช่วงหลังผมก็ไม่เคยให้สูตรที่ใช้ตะกั่วกับโรงงานไหนอีกเลยทั้งๆที่เคลือบที่ได้จะสวยงามมาก หรืออย่างน้อยก็ต้องใช้ lead silicate frit ซึ่งควบคุมยากมีโอกาสเกิดรูเข็มและคราบสีดำจากการเผาที่มีบรรยากาศรีดักชันปนอยู่บ้างเพราะเคลือบตะกั่วไม่ชอบรีดักชัน
ปัจจุบันถ้าอยากทำแจกันสีทองหรือสีเงินก็ส่งไปชุบด้วยไททาเนียมไนไตรด์ โดยวิธี PVD (Physical Vapor Deposition) ซึ่งใช้ไททาเนียมเป็นเป้าและปล่อยกาซไนโตรเจนเข้าไป TiN จะไปจับที่ผิวของเซรามิกทำให้เกิดสีทองเงางาม ยึดติดแน่นทนทาน เราลองนึกถึงพวกนาฬิกาเรือนทอง หรือมือจับประตูสีทองที่เงางามก็ใช้วิธีเดียวกัน ข้อดีของวิธีนี้คือ COE ของ TiN จะใกล้เคียงกับเซรามิกทำให้ไม่มีปัญหาหลุดร่อนและทนการขูดขีดได้ดี แต่ต้องไปจ้างโรงงานเขาเคลือบเพราะเครื่องมือแพงมาก แต่รอบหนึ่งก็ชุบได้หลายใบ ถ้าเทียบกับทาน้ำทองแท้แล้วคุ้มกว่าเยอะ โดยเฉพาะปจกันใบใหญ่ๆ ส้วมตัวโตๆ รายละเอียดติดตามได้ในวารสารเซรามิกฉบับหน้าที่เพื่อนผม ดร.ศิริพร แห่ง วว. จะเขียนบทความเรื่องนี้อย่างละเอียดครับ |